สภาวะเบิร์นเอาต์ สุดจะเป็นอาการยอดฮิตที่ไม่ว่าจะอยู่วัยเรียนหรือวัยทำงานก็เป็นกันนับครั้งไม่ถ้วน อาจเพราะเราเบื่อ ที่ไม่เจอที่ทางและสิ่งที่ใช่สำหรับตัวเองสักที แม้กระทั่งความชอบหรือความเก่งกาจก็มองไม่เห็น ทั้งที่เราเจอความสำเร็จบนโลกอินเทอร์เน็ตปะทะเข้าหน้ามากมาย แต่ก็ดูเหมือนว่ามันจะคล้ายกันไปหมดราวกับงมเข็มในมหาสมุทร เรามองหาความพิเศษนั้นในตัวเองไม่เจอ ได้แต่เฝ้าถามตัวเองว่า เราอยากทำอะไร เราเก่งอะไรสักอย่างบ้างไหม ตอนนี้เรากำลังทำอะไรอยู่กันแน่ เกิดสารพัดคำถามที่ชวนสงสัยในตัวเองบ่อยครั้งจนท้อใจ
วันนี้เราเลยขอกวักมือชวนชาว B2S Club ทั้งหลายที่กำลังนอย กำลังปลง กำลัง งง ๆ กับชีวิต มาอ่านหนังสือที่ชื่อว่า “วิธีค้นหาสิ่งที่คุณอยากทำที่ง่ายที่สุดในโลก” บอกเลยว่าเป็นเล่มที่ปลดล็อกคำถามในใจเราให้เลิกงง เลิกสงสัยในสิ่งที่ตัวเองกำลังทำ พร้อมช่วยปูพรมให้เราได้ออกสตาร์ท เริ่มค้นหา และเดินไปตามเส้นทางที่ใช่สำหรับตัวเองจริง ๆ ได้แบบ 300%
เกี่ยวกับหนังสือ
หนังสือ “วิธีค้นหา ‘สิ่งที่คุณอยากทำ’ ที่ง่ายที่สุดในโลก” ผลงานของยางิ จิมเป เป็นหนังสือแนวพัฒนาตนเองที่ค่อนข้างนิยมในญี่ปุ่น ซึ่งเราไม่แปลกใจว่าทำไม เพราะขนาดชื่อหนังสือแปลไทย เราเห็นปุ๊บก็อยากอ่านปั๊บเลย เพราะเป็นคนที่กำลังงง ๆ กับชีวิตตัวเองอยู่เหมือนกัน แล้วก็เป็นคนที่สงสัยในตัวเองมาโดยตลอด ไม่พบเจอที่ที่ใช่และสิ่งที่ใช่ของตัวเองสักที เห็นใครต่อใครประสบความสำเร็จกับสิ่งที่เขาเลือก ก็ดีใจนะ แต่มันก็สะท้อนกลับมาหาตัวเราเหมือนกันว่า แล้วเราล่ะ เราจะประสบความสำเร็จกับอะไรได้บ้าง แค่สิ่งที่ชอบทำหรือสิ่งที่คิดว่าตัวเองน่าจะถนัด ก็ยังตอบได้ไม่มั่นใจเลย
ไปหาอ่านประวัตินักเขียนมาเล็กน้อย เขาว่าคุณยางิ จิมเปเป็นทั้งนักเขียนด้วยและโค้ชด้านการพัฒนาตนเองด้วย ประกอบกับเขาเขียนประเด็นเรื่องวิธีง่าย ๆ ในการค้นหาสิ่งที่ตัวเองอยากทำ (ซึ่งดูเหมือนเป็นเรื่องเล็กแต่จริง ๆ แล้วมันคือปัญหาโลกแตก) ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจสำหรับนักอ่านทุกวัยซึ่งต่างก็โหยหาและตามหาคำตอบนี้กันตลอดชีวิตจนเรียกได้ว่าติดกับดักการค้นหาตัวเอง เลยทำให้เราคาดหวังว่าเล่มนี้ มันจะไกด์ให้เราเจอสิ่งที่เราต้องการได้จริง ๆ
ซึ่งก็ค้นพบว่า นี่มันคือฮาวทูในการค้นหาตัวเองฉบับเข้าใจง่าย ไม่ได้มาทรงจิตวิทยาจ๋า ๆ หรือมาเป็นหลักการพัฒนาตัวเองแบบแข็ง ๆ ที่ทำตามได้ยาก ในเล่มนี้ จะเต็มไปด้วยประโยคสะท้อนกลับที่ชวนให้เราลองสังเกต สำรวจตัวเองแบบง่าย ๆ แต่หาตัวเองจนเจอได้จริง เช่น
แต่ละคำถาม เหมือนคำถามง่าย ๆ ที่ชวนถามตอบทั่วไป แต่เหลือจะเชื่อว่าพอได้ลองตอบ ลองคุ้ยหาคำตอบมาอธิบายของคำถามง่าย ๆ เหล่านี้ มันกลับทำให้เราเริ่มเจอสิ่งที่อยู่ในตัวเราอย่างที่ไม่เคยได้เจอมาก่อน
ถ้าถามเราว่าเล่มนี้ มีวิธีไหนที่จะช่วยให้เราค้นหาตัวเองจนเจอแล้วมันเวิร์กจริง เราจะเล่าแบบนี้ว่า ในเล่ม นักเขียนเขาใช้เครื่องมืออยู่อันนึงซึ่งทุกคนเอาไปใช้ เอาไปทำตามได้เลยกับทุกเรื่องตั้งแต่เรื่องง่ายไปยาก ซึ่งก็คือกรอบแนวคิดแบบ “What × How × Why”
สมมติว่า เราคิดว่าตัวเองน่าจะชอบ หรือถนัด หรือพอจะวาดรูปได้ เพื่อให้ได้คำตอบว่าเราชอบและอยากทำมันจริง ๆ ไหม ให้เอากรอบแนวคิดนี้มาครอบสิ่งที่เราทำอีกที
What (อะไร) > ชอบวาดรูป
How (อย่างไร) > ชอบวาดรูปทรงเรขาคณิตซ้อน ๆ กัน และชอบตอนที่ได้วาดรูปอยู่คนเดียวเงียบ ๆ
Why (ทำไม) > มันช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย
จากตัวอย่างที่ยกมา เพื่อน ๆ อาจจะพอเห็นคอนเซปต์แล้วว่า แค่กรอบแนวคิดเล็ก ๆ 3 ข้อนี้ (ซึ่งก็ตอบแบบง่าย ๆ เบสิก ไม่ต้องคิดเยอะด้วย) มันค่อย ๆ ทำให้เราเห็นภาพมากขึ้นว่า อะไรคือสิ่งที่อยากทำจริง ๆ และสิ่งที่ทำอยู่ เราอยากทำมันจริงไหม พูดง่าย ๆ คือมันช่วยแงะสิ่งที่ใช่สำหรับเรา ด้วยการถาม และฝึกให้เราทำความเข้าใจตัวเราเอง
วิธีที่สองที่หนังสือแนะนำแล้วเราว่าเวิร์กมากสำหรับคนที่เบิร์นเอาต์ง่าย ๆ เสียความมั่นใจได้ง่าย ๆ แบบเรา คือ การหยุดหมกมุ่นกับการแก้ไขข้อเสีย แล้วหันมาโฟกัส-พัฒนาสิ่งที่เราพอทำได้หรือทำได้ดี ซึ่งเราเห็นด้วยมาก ๆ แถมยังเป็นวิธีที่ไม่ทำให้เราเสียเวลากับความคิดลบ ๆ ที่ไม่ได้ประโยชน์อะไรกับตัวเองเลย
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพก็เช่น เราอาจจะเป็นคนอินโทรเวิร์ตที่พูดไม่เก่ง แต่ทำงานดีไซน์ออกมาได้เก่งมาก ในโลกความจริง อาจจะมีคนมากมาย (และไม้บรรทัดของใครอีกมากมาย) ที่มองว่าเราเป็นพวกสื่อสารไม่เก่ง ทำงานไม่เก่ง อันที่จริง เราไม่จำเป็นต้องพูดเก่งก็ได้ เพราะท้ายที่สุดแล้ว ผลงานมันฟ้องด้วยตัวมันเอง นี่คือวิธีที่เรามองว่ามีพลังมาก แล้วมันช่วยให้เรามีแรงฮึดตั้งใจอยากพัฒนาตัวเองให้เก่งขึ้นไปได้อีกยาว ๆ ไม่ถอดใจไปง่าย ๆ
วิธีที่สามที่เราว่ามันคือแว่นขยายช่วยส่องให้เราเห็นว่าอะไร ใช่ ไม่ใช่ สำหรับตัวเองชัดขึ้น คือแนวคิด “จิ๊กซอว์ 3 ชิ้น” ซึ่งเป็นสิ่งที่เราแต่ละคนควรมองหาในตัวเอง
ลองเขียนออกมาเป็นวงกลม แล้วตีกรอบ เมื่อไหร่ที่ 3 อย่างนี้มันอินเตอร์เซกกัน ทับซ้อนกัน หรือพูดให้เข้าใจง่ายคือ สิ่งสิ่งนั้นมันติ๊กถูกทั้งหมด 3 ข้อ แสดงว่าเราเจอเฉลยแล้ว ไม่ต้องงมหาคำตอบอีกว่าเราควรจะทำอะไรดีในชีวิตนี้
วิธีที่สี่ อีกวิธีที่เรียกว่าช่วยชีวิตเราไว้เหมือนกันเวลาเจอเรื่องอะไรแย่ ๆ ยาก ๆ เพราะมันสอนให้มองระลอกคลื่นของชีวิตเป็นกระบวนการหนึ่งที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ กับแนวคิดเรื่อง “หอยเม่น” ตัวนักเขียนเองได้เปรียบเทียบประสบการณ์แย่ ๆ ว่าเป็นเหมือนเปลือกของหอยเม่นที่แหลมคม ถ้าเรามัวแต่กลัวมัน เราจะไม่กล้าจับมันเลย แต่ถ้าเราค่อย ๆ มองเข้าไปข้างในดี ๆ เราอาจเจอไข่หอยเม่นที่นุ่มนวลและมีคุณค่าบางอย่างซ่อนอยู่
ความหมายของมันก็คือ ทุกความเจ็บปวดที่เราเผชิญ เราไม่มีทางรู้หรอกว่ามันอาจจะเป็นตัวต้นเรื่องที่ปูทางให้เราได้ไปเจอสิ่งที่เรารักที่สุด และใช่ที่สุดสำหรับเราก็ได้
ใครเหมาะจะอ่านเล่มนี้ ?
ลองดูว่าเพื่อน ๆ ติ๊กถูกให้ตัวเองในข้อไหนบ้าง (แต่ถึงจะไม่ติ๊กถูกสักข้อเลย ก็อยากให้ลองอ่านอยู่ดี)
สรุปให้เคลียร์ว่า หนังสือ "วิธีค้นหาสิ่งที่คุณอยากทำที่ง่ายที่สุดในโลก" เล่มนี้ ไม่ได้เป็นหนังสือที่ให้คำตอบสำเร็จรูปว่าทำแบบไหนแล้วเราจะสำเร็จหรือหาสิ่งที่ใช่จนเจอ (เพราะคำตอบสำเร็จรูปที่ใช้ได้ผลกับทุกคน มันไม่เคยมีอยู่จริงหรอก) แต่มันคือหนังสือที่ให้พื้นที่เราได้ค้นหาคำตอบของตัวเอง ผ่านเครื่องมือ ผ่านแนวคิด ผ่านคำถามง่าย ๆ บางคำถาม จนมันนำทางเราไปเจอสิ่งที่ใช่สำหรับตัวเองโดยเฉพาะ แบบที่ไม่เหมือน ไม่ซ้ำ ไม่ทับทางใครด้วย
นอกจากจะได้แนวคิดดี ๆ มาปรับใช้กับการค้นหาตัวเอง เราก็ตกผลึกได้ว่า จริง ๆ แล้ว เราทุกคนมีสิ่งที่อยากทำอยู่แล้วแหละ เรามีสิ่งที่ใช่รออยู่ เพียงแต่ยังไม่รู้วิธีจะเจอมันเท่านั้นเอง และไม่แน่หรอก บางทีทางที่ใช่ มันอาจไม่ได้หาเจอจากการเฝ้าคิด เฝ้ารอคอยคัดเลือกทางที่ดีที่สุดจากตัวเลือกมากมาย แต่มันคือทางที่เราเริ่มออกเดินไปแล้วต่างหาก
ในยุคที่ทุกอย่างดูเร่งรีบ และใครๆ ก็เหมือนจะรู้ที่รู้ทาง รู้เป้าหมายของตัวเองกันหมด ยังมีอีกหลายคน ที่แค่จะตอบคำถามว่าตัวเองชอบอะไร ก็ยังเป็นเรื่องยากเลย
ใครที่กำลังสับสน งง ๆ กับชีวิตเหมือนถูกใครทิ้งไว้กลางทาง ไม่รู้ว่าตัวเองถนัดอะไร ไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไร ไม่รู้จะได้เจอสิ่งที่ใช่สำหรับตัวเองเมื่อไหร่ และตอนนี้ก็กำลังรู้สึกว่าชีวิตล่องลอยไปแบบไร้ทิศ ไม่รู้เหนือรู้ใต้ หนังสือ “วิธีค้นหาสิ่งที่คุณอยากทำที่ง่ายที่สุดในโลก” เล่มนี้ จะช่วยกรุยทางจนเราเจอคำตอบนั้นที่เราเฝ้าตามหามาตลอด และบางที มันก็เริ่มต้นจากสิ่งง่าย ๆ อย่างการนั่งลง จมจ่อมกับการทำอะไรบางอย่างจนเราลืมเวลา เช่น การอ่านหนังสือเล่มนี้ เท่านั้นเอง