ถ้า...เปรียบชีวิตเหมือนดินสอหนึ่งแท่ง
ดินสอ...จุดเริ่มต้นที่ทุกคนคุ้นเคย (พื้นฐานของการใช้ชีวิต)
ต้องเหลาถึงจะใช้งานได้ (คนเราฝึกฝนและขัดเกลาได้)
ราคาถูกแต่คุณค่ามาก (คุณค่าของชีวิตไม่ได้อยู่ที่มูลค่า)
เขียนผิดแล้วลบ (ชีวิตมีโอกาสแก้ไขข้อผิดพลาดได้)
กุดหักก็เหลาใหม่ (ชีวิตเริ่มต้นใหม่ได้เสมอ)
สั้นลงเรื่อยๆ เมื่อใช้งาน (ทุกสรรพสิ่งมีวันหมดและเปลี่ยนแปลง)
รองรับสุดยอดจินตนาการได้ไม่รู้จบ (ประโยชน์เกินตัวขึ้นอยู่กับคนนำไปใช้งาน)
แม้จะมีข้อคิดดีๆหลากหลาย...แต่ไม่มีข้อคิดของดินสอแท่งใดจะยิ่งใหญ่ไปกว่า ดินสอที่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ใช้ทรงงานเพื่อให้คนไทยทุกคนมีความสุข พระองค์ทรงใช้งานอย่างประหยัด คุ้มค่า เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชนของพระองค์ พระองค์ท่านสอนและเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิต เสมือนแสงสว่างนำทาง ให้รู้จักตนเอง ให้พอใจในสิ่งที่มี มองเห็นคุณค่าและใช้ให้คุ้มค่าเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ในทางสร้างสรรค์ ดินสอนับได้ว่าเป็นเพื่อนที่คุ้นเคยตั้งแต่วัยเด็ก ตอบโจทย์ด้านจินตนาการกว้างไกลได้ไม่สิ้นสุด ตั้งแต่เด็กมือใหม่ มือเก่า รวมทั้งศิลปินชั้นครูก็ยังใช้ดินสอกันจนถึงทุกวันนี้
เทคนิคการวาดภาพด้วยดินสอให้สวยงาม ลงน้ำหนักเหมือนจริง ต้องอาศัยทักษะขั้นสูงและการฝึกฝนอย่างหนัก อาจมีดินสอหลากหลายน้ำหนักให้เลือกตั้งแต่ HB B 2B 4B 6B หรือกว่านั้น ร่วมกับกระดาษ ยางลบ ฯลฯ ที่มีอยู่ทั่วไป ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเพียงอุปกรณ์ตามแต่ทุนทรัพย์ของแต่ละคน แต่ถ้าจะหาแนวทางการวาดเป็นของตนเองต้องคิดและค้นคว้าทดลองอย่างต่อเนื่อง แม้จะไม่ใหม่เชิงอุปกรณ์ เทคนิค เพียงแค่ปรับวิธีคิดและมีแนวคิดรองรับ เหล่านี้อาจทำให้การสร้างสรรค์ด้วยดินสอธรรมดาๆได้ผลงานที่มีคุณค่าได้เช่นกัน
เวลาคิด จะเกิดคำในหัวสมอง ล่องลอยในอากาศ ดูจะเป็นนามธรรม แต่เมื่อนำมาเขียนจะเกิดความหมาย ถ้านำคำเหล่านั้นมาเขียนให้เป็นรูปธรรม(เป็นรูปภาพ)ที่สอดคล้องกับความหมาย นั่นคือแนวทางที่จะนำมาสร้างสรรค์ในครั้งนี้
ลายมือเขียน เป็นลักษณะเฉพาะของแต่ละบุคคล ซึ่งแต่ละคนเขียนไม่เหมือนกัน น้ำหนักกด ทิศทาง การลากเส้นฯลฯ บ่งบอกตัวตนของคนนั้นๆได้เป็นอย่างดี
การเขียนตัวอักษรด้วยดินสอเหลาปลายแหลม จึงเป็นการนำเสนอการสร้างสรรค์ผลงานทางศิลปะบนแนวคิดและรูปแบบที่ต่างออกไป เปรียบเป็นการวาดเส้นด้วยตัวอักษรลายมือเขียนแทนการลากเส้นและสานเส้นไปมา
เขียนสิ่งที่คิด คิดแล้วจึงเขียน
เมื่อจะลงมือสร้างสรรค์ ต้องคิดก่อนว่าจะเขียนคำว่าอะไร และจะเขียนรูปใดที่ให้ความรู้สึกถึงแนวคิดที่ตั้งใจไว้ เมื่อตั้งหลักได้จึงเลือกเขียนคำว่า“แผ่นดินแห่งความสุข” เนื่องด้วยประทับใจและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณในหลักการทรงงานของในหลวงรัชกาลที่ ๙ จึงเลือกภาพขณะทรงงานนำมาสร้างสรรค์
อุปกรณ์ (ที่ต้องมี)
1. ดินสอ 2B จำนวน 1 แท่ง
2. กบเหลาดินสอ
3. ยางลบซับคาร์บอน
4. กระดาษปอนด์ขนาด 28 x 38 ซม.
5. สีน้ำอะคริลิค
6. พู่กัน
7. นิโต้เทป
8. กระดานรองวาด
9. ตัวหนีบกระดาษ
10. กระดาษรองมือ
11. ภาพต้นแบบ
12. ด้ามต่อดินสอ
ขั้นตอนการสร้างสรรค์
1. ร่างภาพที่ต้องการวาดด้วยดินสอบนกระดาษ ควรให้เส้นร่างมีความเข้มพอที่จะมองเห็นได้ง่าย ซึ่งการร่างภาพมีหลายวิธี ทั้งการร่างและวาดโดยกำหนดสัดส่วนจากการมอง การร่างภาพจากกระดาษลอกลาย การร่างภาพจากตู้ไฟฯลฯ ทั้งนี้แล้วแต่ความถนัดของแต่ละบุคคล
ภาพที่ 1.1 ร่างภาพที่ต้องการวาดด้วยดินสอ
2. ระบายสีน้ำอะคริลิคสีเทาอ่อนบริเวณที่ต้องการให้มีน้ำหนักเข้ม ควรผสมสีให้ข้นและมีน้ำหนักเข้มกว่ากระดาษเล็กน้อย และรอจนกว่าสีจะแห้ง เพื่อให้เห็นขอบเขตและบริเวณที่จะเขียนซ้ำให้เกิดน้ำหนักเข้มได้ง่ายขึ้น
ภาพที่ 1.2 ระบายสีน้ำอะคริลิคสีเทาอ่อนบริเวณที่ต้องการให้มีน้ำหนักเข้ม
3. กำหนดจุดเริ่มต้นและเขียนตัวอักษรเป็นวงกลม จากการหยิบยืมรูปแบบของ“วงปีไม้” ซึ่งดูมีการเคลื่อนไหว เจริญเติบโตเป็นวงที่กว้างขึ้นเมื่อผ่านกาลเวลาตามฤดูกาลของธรรมชาติ สอดคล้องกับหลักพุทธปรัชญญาว่าด้วยชีวิตคนที่ดำเนินไปเหมือนกระแสน้ำที่ไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่ มีการไหลอยู่ตลอดเวลา ธรรมชาติของชีวิตมนุษย์ที่มีลักษณะเป็นกระแส ก็เพราะมีการเปลี่ยนแปรอยู่ตลอดเวลาตั้งแต่ปฏิสนธิในครรธ์ของมารดาจนกระทั่งตาย (ที่มา อนุสรณ์เนื่องในงานพระราชาทานเพลิงศพ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.สุนทร ณ รังษี, กายกับจิต-2 กระแสแห่งชีวิต หน้าที่ 22)
ภาพที่ 1.3 กำหนดจุดเริ่มต้นและเขียนตัวอักษรเป็นวงกลมและใช้กระดาษรองฝ่ามือกันเปื้อน
วงกลมที่เกิดขึ้นมีระยะห่างระหว่างบรรทัดเล็กใหญ่ไม่เท่ากันเป็นช่วงๆ ช่วงละ 12 บรรทัด(เหมือน 1 รอบปีมี 12 เดือน) มีระยะแคบและกว้างสลับกันไปจะได้สีเข้มอ่อนเหมือนวงปีไม้(วิธีนี้ต้องนับบรรทัดจะได้เท่าๆกันทุกรอบ) อาจมีการร่างเส้นวงกลมบางๆ เพื่อใช้เขียนจะได้มีทิศทางตามต้องการมากขึ้น
ภาพที่ 1.4 ร่างเส้นวงกลมบางๆ เพื่อเขียนให้ได้ทิศทางตามต้องการ
4. เมื่อเขียนข้อความจนเต็มภาพแล้วให้เขียนข้อความเดิมซ้ำอีกรอบ แต่จะเป็นการเขียนในบริเวณช่องว่างระหว่างบรรทัด ซึ่งอยู่บริเวณสีเทาที่ทารอไว้ก่อนหน้า เพื่อให้ได้น้ำหนักเข้มขึ้น โดยสังเกตเส้นที่ร่างภาพไปพร้อมๆกันจะได้ไม่เลยขอบภาพที่กำหนดไว้
ภาพที่ 1.5 เขียนข้อความเพิ่มในช่องว่างระหว่างบรรทัด เพื่อให้ได้น้ำหนักเข้มขึ้น
5. เก็บรายละเอียดอีกครั้งบริเวณที่ต้องการให้เข็มที่สุด โดยการเขียนซ้ำๆ ด้วยข้อความเดิม แม้ว่าจะอ่านไม่ออกแล้วก็ตาม เช่นบริเวณผมที่ดำ ดวงตา หรือบริเวณเงาดำ เป็นต้น
ภาพที่ 1.6 “แผ่นดินแห่งความสุข ๒๕๖๓ หมายเลข ๑” 28 x 38 ซม. ดินสอ อะคริลิคบนกระดาษ
ผลงานที่เกิดขึ้นแสดงออกถึงความเพียรพยายาม ความมุ่งมั่นในงาน และเกิดสมาธิ เป็นผลมาจากการทำงานที่ต้องคิด วางแผนเป็นขั้นตอน จดจ่อกับงาน อดทนและต่อสู้กับตัวเองบนพื้นที่ว่างของกระดาษ
จากดินสอหนึ่งแท่งยาวสามารถใช้สร้างสรรค์ภาพและยังพอเหลือใช้อีกนิดหน่อย ซึ่งเพียงพอกับการนำมาตกแต่งภาพให้สมบูรณ์มากขึ้น
ภาพที่ 1.7 เปรียบเทียบดินสอก่อนและหลังใช้งาน
อาจมีหลายคนอยากรู้ว่าดินสอหนึ่งแท่งเขียนได้ยาวแค่ไหน เหมือนอยากรู้ว่าคนเราจะมีชีวิตอยู่ได้นานเท่าไร แต่ถ้าถามว่าจะรู้ไปทำไม รู้แล้วจะได้อะไร มีประโยชน์อะไร คำตอบอาจมีประโยชน์หรือไม่มีประโยชน์ก็ได้ เพราะอย่างไรคนเราก็หนีไม่พ้นจุดที่ว่านั้น แต่การใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่าน่าจะเป็นสิ่งสำคัญกว่าคำถามที่ว่านี้
การเริ่มต้นด้วย “จุด” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งขององค์ประกอบหลักทางศิลปะ ก่อนจะเกิดเป็นเส้น รูปร่าง ระนาบ รูปทรง ประกอบกันเป็นภาพ ความจริงที่ว่าทุกภาพมีจุดเริ่มต้นเสมอ ทุกภาพมีข้อบกพร่อง ไม่มีอะไรสมบรูณ์แบบเหมือนกับ“คน” แต่ทุกภาพมีคุณค่าในตัวมันเอง เนื้อหาและขั้นตอนการสร้างสรรค์ไม่สำคัญไปกว่าการย้อนกลับมาดู มารู้จักจุดเริ่มต้นของตนเอง รู้ว่าเราคือใครและจะอยู่อย่างไรให้มีคุณค่า ให้มีความสุขบนความพอเพียง มากว่าวาดอย่างไรให้สวยเหมือนกับคนอื่น หรือวาดอย่างไรให้ขายได้