ถ้าพูดถึงประเทศจีน ต้องยอมรับเลยว่า เป็นประเทศที่มีประเพณีวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์และหลากหลายมาก ในบางครั้ง วัฒนธรรมเหล่านี้ ก็ยังมีอิทธิพลมายังประเทศอื่นๆ อีกด้วย ซึ่งประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในนั้น ที่รับวัฒนธรรมส่วนหนึ่งมา ที่เห็นได้ชัดก็คงจะเป็นเทศกาลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เทศกาลตรุษจีน สาทรจีน เทศกาลกินเจ หรือแม้กระทั่งเทศกาลเชงเม้ง แต่มีอีกหนึ่งเทศกาลที่สำคัญไม่แพ้กัน และก็ใกล้เข้ามาแล้วด้วยค่ะ นั่นก็คือ เทศกาลไหว้พระจันทร์ เทศกาลไหว้พระจันทร์มีชื่อภาษาจีนว่า 中秋节 zhōngqiū jié (จง ชิว เจี๋ย) ซึ่งคำว่า 中 มีความหมายว่า กลาง , 秋 มีความหมายว่า ฤดูใบไม้ร่วง และ
节 มีความหมายว่าเทศกาล
เมื่อนำทั้ง 3 คำนี้มารวมกันแล้ว เราจะสามารถคาดเดาช่วงเวลาของเทศกาลไหว้พระจันทร์ได้เลยค่ะ ว่าเป็นช่วงกลางฤดูใบไม้ร่วงนั่นเอง ซึ่งตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ตามปฏิทินจันทรคติจีน ค่ะ
วันไหว้พระจันทร์ ก็ต้องนึกถึงขนมไหว้พระจันทร์ใช่ไหมคะ ซึ่งชื่อภาษาจีนก็คือ 月饼 yuèbǐng (เยว่ ปิ่ง) เอกลักษณ์ของขนมไหว้พระจันทร์คือ เป็นทรงกลม หนา มีไส้ และมีตัวอักษร หรือรูปต่างๆ อยู่ด้านบน ซึ่งเชื่อกันไหมคะว่า ขนมไว้พระจันทร์นี้ ในอดีต ได้เป็นเป็นเครื่องมือในการต่อสู้อีกด้วยค่ะ เรื่องนี้เริ่มต้นสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 14 ในดินแดนที่ราบมองโกเลีย ซึ่งเป็นยุคที่ชาวมองโกลเข้ามายึดครองแผ่นดินจีน และชาวจีนทั้งหลายต่างพยายามต่อต้านขับไล่ชาวมองโกลออกไป โดยมี “จูหยวนจาง” และพรรคพวกเป็นผู้นำขบวนการต่อต้าน
และเพื่อเป็นการเคลื่อนไหวอย่างลับๆ จูหยวนจางได้ทำขนมไหว้พระจันทร์ ที่สอดกระดาษเขียนข้อความปลุกระดมให้ชาวจีนทุกชนเผ่าลุกมาต่อต้านมองโกล กระดาษน้อยที่สอดไส้ในขนมไหว้พระจันทร์ระบุวันนัดหมายให้เหล่าพันธมิตรผู้ร่วมอุดมการณ์เป็น “ชาวจีนผู้รักชาติ” ออกมารวมตัวประท้วงขับไล่กันอย่างพร้อมเพรียง
การประท้วงครั้งนั้นสามารถขับไล่กองทัพมองโกลออกไปได้ ส่งผลให้จูหยวนจาง ผู้นำขบวนนักสู้ขนมไหว้พระจันทร์ ได้รับการสถาปนาเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์หมิง และตั้งนานกิง เป็นเหมืองหลวงของอาณาจักรจีน ทำให้ตั้งแต่นั้นมา ขนมไหว้พระจันทร์ มีความหมายมากกว่าเรื่องการขอพรจากดวงจันทร์ แต่ยังเป็นเสมือนเครื่องเตือนใจให้ระลึกถึงการต่อต้านต่างชาติที่หวังมายึดครองแผ่นดินจีนด้วย
และในวันไหว้พระจันทร์นี้ ก็ยังมีตำนานความรักที่น่าสนใจของวีรบุรุษโฮ่วอี้(后羿)และเทพธิดาฉางเอ๋อ(嫦娥)อีกด้วยค่ะ เรามาฟังตำนานนี้ไปพร้อมๆ กันเลย
ตามตำนานในสมัยโบราณ วันหนึ่ง ได้มีพระอาทิตย์ปรากฎขึ้นบนท้องฟ้า 10 ดวง ส่งผลให้โลกร้อนจัดจนผู้คนเดือดร้อน ล้มป่วยและอยู่ไม่ได้ จากนั้น ได้มีวีรบุรุษผู้ทรงพลังชื่อโฮ่วอี้ ผู้มุ่งมั่นที่จะบรรเทาทุกข์ให้กับประชาชน ได้ใช้ธนูศักดิ์สิทธิ์ ยิงพระอาทิตย์ตกลงมา 9 ดวงภายในคราวเดียวกัน ซึ่งสร้างความปิติยินดีให้กับชาวบ้านเป็นอย่างมาก
โฮ่วอี้มีภรรยาอยู่หนึ่งคนชื่อว่า ฉางเอ๋อ เธอเป็นหญิงสาวผู้เลอโฉม จิตใจดี และมักจะช่วยเหลือชาวบ้านที่ยากจน ดังนั้นทั้งสองคน จึงเป็นที่รักของประชาชนที่อยู่บริเวณนั้นเป็นอย่างมาก
เมื่อเรื่องราวของโฮ่วอี้ ได้ไปถึงหูของพระราชินีแห่งภูเขาคุณหลุน จึงได้เรียกโอ่วอี้เข้าเฝ้า และมอบยาอายุวัฒนะให้กับเขา เพื่อเป็นการตอบแทนคุณงามความดีของโฮ่วอี้ ซึ่งว่ากันว่าผู้ที่รับประทานยานี้เข้าไป ไม่เพียงแต่จะเป็นอมตะแล้ว ยังจะได้ขึ้นสู่สวรรค์อีกด้วย แต่ด้วยความรักที่โฮ่วอี้มีให้กับฉางเอ๋อ จึงได้นำยาอายุวัฒนะนี้กลับมาที่บ้านและมอบให้กับเธอ พร้อมพูดว่า จะรับประทานยานี้พร้อมกัน เพื่อที่จะได้อยู่ด้วยกันตลอดไป แต่ขอให้เสร็จภารกิจช่วยเหลือชาวบ้านก่อน จากนั้นก็ได้เดินทางออกจากบ้านไป
ฉางเอ๋อรอโฮ่วอี้อยู่ที่บ้านด้วยใจจดใจจ่อ แต่ตกดึกแล้ว โฮ่วอี้ก็ยังไม่กลับมา ฉางเอ๋อเลยเกิดความสงสัยว่ายานี้ ที่จริงแล้วเป็นยาอะไร จึงเปิดขวดยาและลองรับประทานยานั้นลงไป
จากนั้นร่างกายของฉางเอ๋อก็ค่อยๆ เบาขึ้น เบาขึ้น และลอยขึ้นบนท้องฟ้าอย่างช้าๆ สูงขึ้นเรื่อยๆ จนไปสิ้นสุดบนดวงจันทร์
เมื่อโฮ่วอี้กลับมาจากการทำภารกิจ ก็พบขวดยาที่ตกอยู่ แต่ภรรยาของเขาได้หายตัวไป จึงรีบออกตามหาอย่างกระวนกระวายใจ จนกระทั่งได้มองขึ้นไปบนดวงจันทร์ ก็พบว่า ฉางเอ๋อกำลังมองเขาลงมาจากดวงจันทร์ด้วยสายตาที่เต็มไปด้วยความรัก ความโหยหา รอบกายมีกระต่ายบนดวงจันทร์ที่กระโดดไปมาใต้ต้นไม้ โฮ่วอี้ร้องเรียกซื่อภรรยาของเขาซ้ำๆ และวิ่งตามดวงจันทร์อย่างสิ้นหวัง เพราะเมื่อเค้าวิ่งไปเท่าไหร่ เหมือนดวงจันทร์ก็จะยิ่งไกลออกไปเท่านั้น
บ้านจำนวนหนึ่งที่คิดถึงฉางเอ๋อผู้มีจิตใจดี พวกเขาจึงวางอาหารที่ฉางเอ๋อชอบ และอวยพรเธอจากระยะไกล นับตั้งแต่นั้นมา ทุกวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี ได้กลายเป็นเทศกาลไหว้พระจันทร์ที่ผู้คนต่างตั้งตารอคอยที่จะได้กลับมาพบกับฉางเอ๋ออีกครั้งนึง
และนี่ก็เป็นตำนานของวันไหว้พระจันทร์ที่เล่าสืบต่อกันมาตั้งแต่สมัยโบราณค่ะ หวังว่าทุกคนจะชอบนะคะ 再见
สนใจเรียนภาษาทุกระดับและทุกวัย ติดต่อวิทยาลัยจีนศึกษา สถาบันภาษาม.หัวเฉียว และ ศูนย์แต้จิ๋ววิทยา มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ 02-713-8100 ต่อ 1812