หนุ่มเมืองจันท์ กับผลงานเล่มล่าสุด “โลกนี้ไม่ได้มีคำตอบเดียว” คอลัมนิสต์เจ้าของผลงาน 'ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ' จาก มติชนสุดสัปดาห์
เอ่ยชื่อ สรกล อดุลยานนท์ หลายคนส่ายหน้าไม่รู้จัก แต่ถ้าบอกว่าเขาคือคนเดียวกันกับ "หนุ่มเมืองจันท์" ก็คงจะคุ้นเคยกันถ้วนหน้า จากงานเขียนที่มีสาระ แต่ไม่หนักจนเกินไปและยังร่ำรวยอารมณ์ขัน คุณสรกล จบการศึกษาจากคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่ตัวเขาเองกลับชอบวิชาคำนวณมากกว่าเพราะเรียนมาทางสายวิทย์ ถึงแม้จะเอ็นทรานซ์ติดในคณะที่ไม่ได้ชื่นชอบ แต่เขาก็กลับเรียนอย่างมีความสุข หลังจากจบการศึกษาก็ได้เข้าทำงานสายธุรกิจที่หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องที่เขาถนัดแต่เขาก็ยังทำงานอย่างมีความสุขเช่นเดิม
งานเขียนครั้งแรกของเขาคืองานเขียนเกี่ยวกับประวัตินักธุรกิจคนดัง ซึ่งได้กลายมาเป็นจุดเริ่มต้นการเขียนหนังสืออย่างจริงจัง สิ่งหนึ่งที่ทำให้เขาสามารถประสบความสำเร็จกับงานที่ไม่ได้มีความสนใจมาตั้งแต่เริ่ม แต่กลับกลายเป็นงานที่ทำให้เขาก้าวมาไกลจนถึงทุกวันนี้ คือความพยายาม ไม่ถอดใจ และ "เปิดใจ" รับสิ่งใหม่อยู่เสมอ
"...ประสบการณ์หลายอย่างในชีวิตสอนให้ผมรู้ว่า ลองก่อนได้ อย่าเพิ่งกลัว ทุกครั้งที่เจอสิ่งใหม่ผมจะตาลุกวาว ลองดูซิว่าจะเป็นยังไง อย่าเพิ่งปฏิเสธตั้งแต่แรก ต้องเรียนรู้ เรียนรู้ว่าไม่มีอะไรยากเกินจะทำ..."
สิ่งหนึ่งที่ช่วยเพิ่มพูนความรู้และเป็นแหล่งข้อมูลชั้นดีในการสร้างสรรค์ผลงานคือการอ่านหนังสือ เขาจัดได้ว่าเป็นนักอ่านตัวยง อ่านหนังสือทุกประเภท นอกจากจะได้ข้อมูลความรู้แล้วการอ่านมากๆ ยังส่งผลให้เขามีทางเลือกในการใช้ภาษา จากสำนวนและสไตล์การเขียนของนักเขียนท่านอื่นๆ
ปัจจุบัน คุณสรกล ยังคงมีงานเขียนอย่างต่อเนื่องลงในมติชนรายวัน มติชนสุดสัปดาห์ ประชาชาติธุรกิจ และเส้นทางเศรษฐี และผลงานรวมเล่มที่มีมาอย่างต่อเนื่อง จนถึงปัจจุบันนี้ ผมขอแนะนำหนังสือเล่มใหม่ล่าสุด “โลกนี้ไม่ได้มีคำตอบเดียว” หากใครสนใจ สามารถหาซื้อได้ที่ร้านบีทูเอสทั่วประเทศ
ปกหนังสือโลกนี้ไม่ได้มีคำตอบเดียว
โปรยปกหลัง
ถ้ามีคนถามว่า 1 + 1 เท่ากับเท่าไร เป็น “คำถาม” ที่ง่ายมากใช่ไหมครับ
เพราะ “คำตอบ” ต้องเป็น 2 อย่างแน่นอน โจทย์คณิตศาสตร์จะค่อนข้างมีลักษณะตายตัว
1+1 ต้องเป็น 2 2 x 2 ต้องเท่ากับ 4 ทุกคำถามของวิชาที่เกี่ยวกับการคำนวณ
จะมี “คำตอบ” เดียว
แต่โลกของเราไม่ใช่โจทย์คณิตศาสตร์ เป็นโจทย์วิชาชีวิต คำตอบก็ไม่ใช่แบบปรนัย
ที่มีคำตอบ ก-ข-ค-ง ให้เลือก แต่เป็นโจทย์แบบอัตนัย เปิดกว้างให้แสดงความคิดเห็น
ที่สำคัญคนที่ออกข้อสอบ ไม่ใช่ “ครู” แต่เป็นตัวเราเอง เราเป็นคนตั้งโจทย์
และกำหนด “คำตอบ” ที่ถูกต้องเอง “คำตอบ” ของเราจึงไม่จำเป็นต้องเหมือนคนอื่น
เพราะไม่มีชีวิตใครเหมือนชีวิตเรา เราคือเรา และเรารู้จักตัวเราเองมากที่สุด