trigger warning : เนื้อหาในบทความนี้ มีความละเอียดอ่อน อาจกระตุ้นให้ผู้อ่านนึกถึงเหตุการณ์ไม่ดีในอดีตได้ หากอ่านแล้วรู้สึกไม่สบายใจ ให้หยุดอ่านทันทีนะคะ
ทุกคนมีอาหารจานโปรดเป็นเมนูไหนกันคะ อาหารที่เพื่อน ๆ ได้ทานเมื่อไหร่ก็รู้สึกราวกับว่าสิ่งนี้ถูกทำขึ้นเพื่อเรา หรือนี่แหละ! อาหารที่เติมเต็มเราได้ในวันที่แสนหดหู่ อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว คงจะมีเมนูนั้นผุดขึ้นมาในใจแล้วใช่มั้ยคะ คิดถึงเมนูนั้นเอาไว้ แล้วไปอ่านรีวิวกันได้เลยค่า
หลายคนคงเคยได้ยินประโยคที่ว่า “ของอร่อยเยียวยาจิตใจ” ซึ่งเราเห็นด้วย 100% เลยค่ะ ไม่ว่าจะต้องเจอกับความเหนื่อยล้าขนาดไหน แต่เมื่อได้ลิ้มรสเมนูโปรดของเราเข้าไปสักคำสองคำ ก็เหมือนพลังในร่างกายได้รับการชาร์จทันทีเลย “อยากตายแต่ก็อยากกินต๊อกบกกี” เป็นหนึ่งในหนังสือที่นักอ่านหลาย ๆ คนน่าจะคุ้นตาจาก #นัมจุนอ่าน เป็นแฮชแท็กที่รวมลิสต์หนังสือที่ ‘คิมนัมจุน’ หัวหน้าวงบอยแบนด์ชื่อดังอย่าง BTS อ่านนั่นเองค่ะ
ด้วยชื่อหนังสือ หลายคนคงพอจะเดาได้ว่าเป็นหนังสือเกี่ยวกับอะไร เราคิดว่าผู้เขียนเล่มนี้อาจจะอยากสื่อว่า ถึงจะเศร้าจนอยากหายไป แต่ยังมีของอร่อยไว้ยึดเหนี่ยวหัวใจ และเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้อยากมีชีวิตอยู่ต่อไปอีกหน่อยนั่นเองค่ะ
เนื้อหาในเล่มนี้ก็จะเป็นบันทึกการรักษาอาการซึมเศร้าของคุณแบ็กเซฮี ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ค่ะ โดยเค้าเนี่ยได้ถ่ายทอดบทสนทนาระหว่างตัวเค้าเองกับจิตแพทย์ในทุกครั้งที่เข้ารับการรักษา ในอีกแง่หนึ่ง ก็เป็นเหมือนบันทึกตกผลึกความรู้สึกของผู้เขียน เหมือนเราได้อ่านไดอารีที่ถึงแม้จะเศร้าไปสักหน่อย แต่ก็ให้แง่คิดมาปรับใช้กับชีวิตเราได้ หนังสือชุดนี้ มีทั้งหมด 2 เล่มด้วยกัน โดยแต่ละเล่มจะมีเนื้อหาเล่มละ 12 บท แต่ละบทก็คือบทสนทนาในแต่ละวีคที่ผู้เขียนเข้ารับการรักษากับจิตแพทย์ ถ้าถามว่าเนื้อหาทั้งสองเล่มอ่านแยกกันได้มั้ย เราว่าได้นะคะ แต่ถ้าอ่านทั้งสองเล่มก็จะได้เห็นว่า เพราะอะไรผู้เขียนถึงตัดสินใจพบแพทย์ อาการซึมเศร้าเกิดจากอะไร ไปจนถึงการรักษาจนอาการเริ่มดีขึ้น ระหว่างที่อ่านก็ได้ร่วมเอาใจช่วยคุณนักเขียนไปด้วย อ่านเพลิน ๆ ก็จบเล่มแบบไม่รู้ตัวซะแล้ว
เนื่องจากหนังสือมีสองเล่ม เราเลยขอเลือกมาทั้งจากเล่มหนึ่งและเล่มสองเลยนะคะ
“เราสามารถมองว่าความรักมีหลากหลายรูปแบบและเป็นสิ่งที่ไม่ตายตัวได้ค่ะ ผลลัพธ์ของการมองเห็นคุณค่าในตัวเอง ไม่ใช่การได้รับความรักจากใครสักคนซะทีเดียว แต่อยู่ที่ว่าเราจะยอมรับมันยังไง”
“ตอนที่รู้สึกเหนื่อย เรามักจะคิดว่าคนที่เหนื่อยที่สุดคือตัวเราเอง ความคิดนี้มันก็ไม่ใช่การเห็นแก่ตัวหรอกนะ”
“การเข้าใจบาดแผลและการเห็นว่าบาดแผลน่าเวทนานั้นแตกต่างกัน ความเวทนาตนเองไม่ใช่เรื่องเลวร้าย เมื่อเข้ารับการรักษาซ้ำแล้วซ้ำเล่า บาดแผลเหล่านั้นจะค่อย ๆ จางลง แต่ยิ่งบาดแผลจางลงมากเท่าไหร่ ฉันกลับพบว่าตัวเองเปราะบางและเจ็บปวดได้ง่ายขึ้นมากเท่านั้น”
ส่วนตัวเราเป็นคนที่ชอบอ่านหนังสือเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าอยู่แล้ว เพราะอยากทำความเข้าใจว่าคนอื่น ๆ ที่กำลังเผชิญกับโรคนี้อยู่เค้ามีความรู้สึกอย่างไร อะไรบ้างที่สามารถกระตุ้นให้รู้สึกแย่ เป็นหนังสือที่ทำให้เราเหมือนวาร์ปเข้าไปอยู่ในโลกของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ได้เห็นอารมณ์ สาเหตุของการกระทำ เช่น การทำร้ายตัวเองหรือคนรอบข้างเพราะความเครียด เป็นต้นค่ะ รวมถึงขั้นตอนในการรักษามีอุปสรรคอะไรบ้างในแบบที่เข้าใจง่าย ทั้งยังได้ข้อคิดและแนวทางในการรับมือกับความซึมเศร้าที่จะเกิดขึ้นกับเราเมื่อไหร่ก็ได้โดยที่เราอาจจะไม่รู้ตัวอีกด้วยค่ะ การได้อ่านเล่มนี้เลยทำให้เรารู้สึกเหมือนได้อ่านบันทึกของเพื่อนคนนึงที่กำลังถ่ายทอดประสบการณ์ตรงของเค้าให้เราได้อ่านเลยล่ะ เป็นหนังสือที่ทำให้เราเหมือนวาร์ปเข้าไปอยู่ในโลกของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ได้เห็นอารมณ์ สาเหตุของการกระทำ เช่น การทำร้ายตัวเองหรือคนรอบข้างเพราะความเครียด เป็นต้นค่ะ
จริง ๆ แล้ว เราคิดว่าเล่มนี้เป็นหนังสือกึ่งไดอารีที่อ่านง่าย ใครก็ตามที่สนใจหรืออยากศึกษาเกี่ยวกับการรักษาโรคซึมเศร้าสามารถอ่านได้ เนื้อหาไม่ได้เป็นแนววิทยาศาสตร์จ๋า ไม่ได้ยกงานวิจัยหรือคำศัพท์ทางการแพทย์มาพูดถึง เลยทำให้ชวนติดตามเพราะจะได้คอยเอาใจช่วยและเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของคุณนักเขียน และสิ่งสำคัญเลยคือ ใครที่กำลังมีอาการเศร้าซึมหรือสงสัยว่าตัวเองกำลังเป็นโรคนี้แต่ไม่กล้าไปหาหมอเพราะกังวลหรือกลัวลองอ่านเล่มนี้ ก็จะได้เห็นว่าจริง ๆ แล้ว การเข้าพูดคุยกับจิตแพทย์ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด และที่สำคัญ อาการที่เกิดขึ้นมันก็คืออาการเจ็บป่วยในรูปแบบหนึ่งที่ถึงแม้จะไม่มีบาดแผลให้เห็นแต่ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับการรักษานะคะ
เป็นยังไงกันบ้างคะ พอจะป้ายยาให้เพื่อน ๆ อยากอ่านกันได้สำเร็จมั้ย ขอแอบกระซิบเลยนะว่าเล่มนี้เป็นเล่มที่ตามร้านหนังสือคือแทบจะหายากมาก ถ้าอยากอ่านต้องรีบกดสั่งด่วน ๆ เลยค่ะ ยังไงก็ตาม ถ้าได้อ่านเล่มนี้แล้ว ลองนึกถึงสิ่งที่ทำให้เพื่อน ๆ มีความสุข สิ่งที่ทำให้อยากตื่นเช้ามาใช้ชีวิต
ไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งที่ยากเกินเอื้อม แค่สิ่งเล็กน้อยในแต่ละวันที่ทำให้เรามีความสุข เหมือนที่ผู้เขียนเล่มนี้อยากมีชีวิตอยู่เพราะยังอยากกินต๊อกบกกีก็ดีนะคะ เขียนไปเขียนมาชักหิวซะแล้ว ขอตัวไปหาต๊อกบกกีรสชาติดีมาเยียวยาจิตใจบ้างดีกว่า ไว้แวะมาป้ายยากันใหม่ในบทความหน้านะค้า