“จดยังไงให้ทัน!?” ปัญหาชวนปวดหัวเวลาเข้าเรียนในคลาสที่อาจารย์พูดเร็ว สอนไว จนบางครั้งก็ไม่รู้จะจดตรงไหนดี ถ้าไม่จดก็กลัวเนื้อหาไม่ครบ ถ้ามัวแต่จดก็กลัวจะพลาดฟังเนื้อหาสำคัญไป หรือแม้กระทั่งวัยทำงานเอง ที่บางครั้ง ก็เจอปัญหาต้องสรุปประชุมที่ยาวเหยียด มีแต่น้ำ เนื้อหาน้อย ก็ไม่รู้จะต้องจดยังไงให้สั้น แต่ได้ใจความครบ
ปัญหานี้จะถูกแก้ไข ด้วย 9 ทริค Short Note จดแบบสั้น แต่ได้ใจความ ให้ทุกคนจดได้เก่งขั้นสุดยอด ถ้าทำได้ครบทุกข้อรับรองว่า Back to School หรือ Back to work ครั้งไหน ๆ ก็จะไม่ต้องจดทุกคำแบบ งงๆ อีกต่อไป!
“การตั้งใจฟัง” เป็นพื้นฐานข้อแรกของการเรียนที่จะทำให้เราเข้าใจเนื้อหาภาพรวมของบทเรียนนั้นๆ และไม่พลาดเนื้อหาสำคัญ พร้อมรู้ได้ทันทีว่าเนื้อหาส่วนไหนที่อาจารย์เน้นเป็นพิเศษ เมื่อกลับมาทบทวนจะทำให้เราเข้าใจเนื้อหาต่าง ๆ ที่อยู่ใน Short Note ได้ง่ายมากยิ่งขึ้น
“สารบัญ” จุดที่หลายๆ คนมองข้าม แต่จริงๆ แล้วส่วนนี้สำคัญมาก เพราะจะทำให้รู้ว่าเนื้อหาที่อยู่ใน Short Note ว่ามีหัวข้ออะไรบ้าง เมื่อกลับมาอ่านจะทำให้เรารู้ทันทีว่าเราจดเนื้อหาส่วนที่ต้องการอ่านซ้ำไว้ที่หน้าไหน โดยการทำสารบัญ ไม่จำเป็นต้องรวบรวมหัวข้อต่างๆ ไว้ในกระดาษเพียงแผ่นเดียว อาจจะใช้วิธีติด Post It ให้โผล่พ้นขอบกระดาษออกมาเล็กน้อย แล้วจดหัวข้อเอาไว้ เมื่อกลับมาอ่านก็สามารถเปิด Short Note หน้านั้นได้อย่างรวดเร็วเลย
เพื่อนๆ หลายคนอาจติดจดตามคำพูดทุกคำ ขอแนะนำว่า “อย่าหาทำ” เพราะเราไม่มีทางจดได้ทันทุกคำที่อาจารย์พูด เคล็ดลับง่ายๆ ของการจดให้ครบจบในทุกวิชา คือ การตั้งใจฟังและเลือกจดเฉพาะคำสำคัญ เป็นคีย์เวิร์ด หรือประโยคสั้นๆ แต่ยังคงความหมายของเนื้อหาไว้ได้อย่างครบถ้วน และเลือกจดเฉพาะหัวข้อ ไม่ต้องจดส่วนขยาย/การยกตัวอย่าง การทำแบบนี้จะทำให้เราสามารถตั้งใจฟังอาจารย์ไปพร้อมๆ กับการจดได้
“การใช้สัญลักษณ์” เทคนิคการเรียนแบบฉบับคนเก่งขั้นเทพ ที่แปลงคำเชื่อม คำขยาย ให้เป็นสัญลักษณ์เพื่อให้เร็วต่อการจดมากขึ้น เช่น การใช้สัญลักษณ์ลูกศรชี้ขึ้นแทนคำว่า เพิ่มขึ้น/มากขึ้น และใช้ลูกศรชี้ลง แทนคำว่า ลดลง/น้อยลง เป็นต้น ลองครีเอทสัญลักษณ์ที่เข้าใจง่าย และจดได้รวดเร็ว ก็จะทำให้ประหยัดเวลาในการจดได้มากเลยล่ะ
“Mind map” หรือ “แผนภูมิความคิด” ที่เราคุ้นชินกันตอนเด็กๆ คือตัวช่วยที่ดีมากๆ ในการจด Short Note เพราะจะทำให้เราสามารถจัดระบบความคิด เรียงลำดับความสำคัญ และเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของเนื้อหาในส่วนต่างๆ ได้ จะทำให้เราเห็นภาพรวมของเนื้อหาทั้งหมดว่ามีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันอย่างไร เมื่อเราเข้าใจแล้ว การจดจำเนื้อหาในรูปแบบแผนภูมิรูปภาพ ก็ทำได้ง่ายกว่าการจดจำในแบบเนื้อหาที่มีตัวหนังสือยาวๆ แน่นอน
การจดยาวเป็นพรืดทำให้ Short Note ไม่น่าอ่านสักเท่าไหร่ การเว้นช่องว่างสักนิด จะทำให้ Short Note ของเราน่าอ่านมากขึ้น และที่สำคัญ ช่องว่างนี้มีประโยชน์มากกว่าความสวย คือ เราสามารถเติมเนื้อหาสำคัญที่อาจจะตกหล่นตอนที่จดในห้องเรียนลงไปได้ หรือการใส่คีย์เวิร์ดสำคัญสั้นๆ อีกครั้ง เพื่อเน้นย้ำในสิ่งที่เราควรจะต้องเข้าใจหรือจำได้ รวมถึงการใส่ Q&A ถาม-ตอบเนื้อหาที่เราไม่เข้าใจและต้องการหาคำตอบทีหลัง เห็นไหมว่าการเว้นช่องว่างมีประโยชน์เยอะมาก เพราะฉะนั้นต่อจากนี้ จดโน้ตทุกครั้งอย่างลืมมีที่ว่างด้วยล่ะ
ใครชอบรูปก้อนเมฆ รูปหัวใจ หรือชอบใส่กรอบ ทำถูกต้องแล้ว เพราะการเติมรูปร่างต่างๆ สำหรับการจดโน้ตเพื่อเน้นหัวข้อที่สำคัญ จะทำให้โดดเด่นกว่าส่วนอื่นๆ และจะช่วยให้จดจำส่วนนั้นๆ ได้ง่ายมากยิ่งขึ้น เรียกว่าเด่นกระแทกตา จำได้ขึ้นใจแน่นอน
เชื่อว่าในหนึ่งเทอมเราไม่ได้เรียนวิชาเดียวแน่นอน แต่เราจะทำยังไงให้สามารถจดโน้ตแบะจำเนื้อหาที่เราจดในแต่ละวิชาได้ เทคนิคง่ายๆ คือ “การแยกสไตล์การจด” ไม่ว่าจะด้วยการใช้สี การใช้รูปแบบสัญลักษณ์ที่แตกต่างกัน การออกแบบโครงสร้างในหน้ากระดาษของการจด เพื่อแยกสไตล์ของแต่ละวิชาให้ชัดเจนจนจำได้ว่าสไตล์ไหนเป็นของวิชาอะไร ทีนี้พอกลับมาทบทวนก็ง่ายเลย
“สีมีส่วนช่วยในการจดจำ” นอกจากสีจะส่งผลต่ออารมณ์และความรู้สึกแล้ว การจดจำด้วยสียังมีประสิทธิภาพกว่าการจดจำแบบทั่วไป เพราะมีงานวิจัยที่พบว่า สีมีผลต่อความดันโลหิตและพัฒนาการของสมอง เพราะแสงที่สะท้อนจากวัตถุเข้าสู่ดวงตาจะส่งสัญญาณไปสู่สมองของเรา และส่งผลต่อจิตใจ อารมณ์ และประสาทส่วนกลางทั้งระบบ จึงมีการนำสีสันมาช่วยเพิ่มการจดจำ ส่งเสริมการเรียนรู้ กระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ ดังนั้น ลองมาเลือกใช้สีช่วยเพิ่มสีสันให้ Short Note ของเรากันดีกว่า
เป็นยังไงบ้างกับ 9 เทคนิคที่ B2S CLUB นำมาฝากกัน ใครยังไม่เคยลองวิธีไหน นำเอาไปปรับใช้ด่วนๆ คิดค้นหรือหาแนวทางที่เราชอบ เราถนัดด้วยนะ อาจไม่ต้องทำครบทุกข้อก็ได้ แค่ทำไม่กี่ข้อ รับรองว่า การจดของทุกคนจะพัฒนาขึ้นแน่นอน
นอกจากเทคนิคดีๆ ที่นำมาฝาก เรายังมีอุปกรณ์การเรียนเจ๋งๆ มาแนะนำสำหรับใช้จดโน้ตด้วย
อยากจดตามให้ทัน เขียนลื่น เขียนไว ต้องใช้ปากกาน้ำเงิน ปากกาลูกลื่นเลย เพราะน้ำหมึกและหัวปากกาเค้าจะออกแบบมาให้ตอบโจทย์คนชอบจด ชอบเขียนโดยเฉพาะ ใครจดช้าอยู่ แนะนำเลยค่ะ!
ใครไม่ชอบพกปากกาหลายแท่ง ปากกา 2 หัวรุ่นนี้ตอบโจทย์มาก! นอกจากจะประหยัดพื้นที่ พก 1 แท่งได้ถึง 2 สีแล้ว ยังสลับเปลี่ยนหัวเขียนได้ง่ายๆ ซัพพอร์ตการจดในคลาสที่พูดไวสุดๆ แถมยังมีสีสันให้เลือกหลากหลาย เลือกสีที่ใช่ เอามาเติมความสดใสให้โน้ตของเรา ก็จะยิ่งช่วยเพิ่มความน่าอ่าน และการจดจำด้วยนะ
ใครชอบปากกาที่เส้นตะมุตะมิมาทางนี้ ปากกาสีสันรุ่นนี้ตอบโจทย์สุดๆ หัวเล็ก เขียนได้คม เขียได้ไว แถมสียังมีหลากหลายเฉดสุดจี๊ดจ๊าด จะเลือกสีโทนธรรมดา มินิมอล ไว้ใช้จดงานที่ทางการหน่อยก็ได้ หรือจะเลือกสีสันพาสเทล สดใส ไปตกแต่งก็ดี
น้องๆ หนูๆ วัยเรียน ที่ยังชอบการใช้ดินสอจดอยู่ ขอแนะนำดินสอกดเลย ไส้ของดินสอจะมีความเล็ก แหลม คม ทำให้จดได้ไวกว่า คล่องมือกว่าแน่นอน แถมไม่ต้องคอยเหลาบ่อยๆ เปลี่ยนไส้ได้เลย ใครมองหาดินสอกดเขียนมันส์มือดีๆ อยู่ ตามหาได้ที่ B2S หรือสั่งออนไลน์ได้เลยนะ