“ความมั่นคงทางการเงิน” เป็นอีกหนึ่งทักษะสำคัญของเด็กเจนอัลฟา เพราะหากเด็กๆ เข้าใจเรื่องการเงิน บริหารเงินเป็น ก็จะช่วยให้ชีวิตตอนเป็นผู้ใหญ่นั้นมั่นคง และไม่ขัดสนทางการเงินไปตลอดชีวิต ไม่ว่าในอนาคตลูกจะหาเงินได้มากเท่าไหร่ หรือพ่อแม่จะเตรียมทรัพย์สินไว้เป็นต้นทุนในชีวิตให้ลูกมากแค่ไหน หากพวกเขาไม่มีวินัยทางการเงิน ทุกอย่างอาจสูญเปล่าในพริบตา ดังนั้น เรื่องเงินๆ ทองๆ จึงจำเป็นต้องปลูกฝังไว้ตั้งแต่ยังเป็นเด็ก
จากงานวิจัยของมหาวิทยาลัยวิสคอนซิล-เมดิสัน พบว่าเด็กอายุ 3 ขวบเข้าใจแล้วว่า เงินมีไว้แลกเปลี่ยนของที่ต้องการ อีกทั้งการปลูกฝังให้ลูกมีวินัยทางการเงิน ก็ควรทำก่อน 7 ขวบ หากอยากให้รู้มีความตระหนักรู้ทางการเงิน คุณพ่อคุณแม่จึงควรรีบปลูกฝังทัศนคติและนิสัยในช่วงเวลาทองนี้ให้มากที่สุด
เริ่มต้นด้วยการสอนให้ลูกหัดออมเงิน โดยพูดถึงเป้าหมายระยะสั้น เช่น เก็บเงินซื้อของเล่นด้วยตัวเอง หรือเก็บเงินเพื่อซื้อของในวันแม่ และเป้าหมายในระยะยาว เช่น ออมเพื่อไปเที่ยว เป็นต้น แล้วซื้อกระปุกออมสินแบบใสเพื่อที่ลูกจะได้เห็นปริมาณเงินได้ชัดเจน หรืออาจจูงใจด้วยการเสนอการเพิ่มเงินให้ เช่น ถ้าลูกหยอดกระปุกทุกวันได้ตลอด 1 เดือน พ่อแม่จะเพิ่มเงินให้อีก 20 เปอร์เซ็นต์ หรือหาวิธีปรับแบบที่เหมาะสมกับเด็กแต่ละบ้านได้เลยค่ะ
หากลูกได้เงินไปโรงเรียน ลองจ่ายเงินให้เป็นรายสัปดาห์ โดยกำหนดให้ลูกต้องออมเงินทุกวัน และเปิดโอกาสให้ลูกได้ลองกำหนดการใช้เงินด้วยตัวเอง เพื่อฝึกให้ลูกมีเงินเก็บและมีเงินพอใช้ทั้งสัปดาห์ อย่างไรก็ตาม พ่อแม่ควรดูแลเงินที่เหลือในแต่ละวันด้วย
ไม่จำเป็นต้องจดละเอียด เพียงแต่สอนให้ลูกรู้ว่า ในแต่ละวัน ได้เงินมาจากไหน และใช้จ่ายไปกับอะไร การจดบันทึกรายรับ-รายจ่าย จะช่วยให้ลูกมีวินัยทางการเงิน สามารถวางแผนการใช้เงินในแต่ละวัน แต่ละสัปดาห์ได้ และที่สำคัญ หากทำทุกวัน จะกลายเป็นนิสัยที่ดี ที่ติดตัวลูกไปจนโต
นอกจากเก็บเงินเป็นแล้ว เด็กรุ่นใหม่ต้องรู้วิธีเพิ่มเงินเข้ากระเป๋าตัวเอง ที่ไม่ใช่แค่การขอเงินจากคุณพ่อคุณแม่ แต่อาจนำความรู้ ความสามารถพิเศษมาสร้างเงินได้ เมื่อเด็กๆ พยายามหาความถนัด ที่จะสามารถสร้างรายได้ได้ พวกเขาจะได้เรียนรู้ทั้งขั้นตอน เทคนิค และได้ฝึกฝนทักษะการเป็นผู้ประกอบการได้จากประสบการณ์จริง ช่วยให้ลูกเห็นคุณค่าของเงิน และฝึกการบริหารได้ตั้งแต่ยังเล็ก
คุณแม่ลองมองหาทักษะของลูกว่าทำอะไรได้ดี ชอบทำอะไร แล้วแนะนำช่องทางในการสร้างอาชีพเล็กๆ ให้ลูกได้ทดลองทำ เช่น ลูกชอบวาดภาพระบายสี อาจแนะนำให้วาดสติ๊กเกอร์ไลน์ขาย ลูกชอบทำขนม สามารถเปิดพรีออเดอร์ขายผ่านช่องทางออนไลน์ได้ หรือถ้าลูกชอบเปิดร้าน ให้ลองหาตลาดนัดเด็กที่มักจัดบ่อยๆ ตามห้างสรรพสินค้าดูเลย
มีเงินทอนเหลือ เงินเหลือจากโรงเรียน ควรสอนให้ลูกหยอดเงินทอนวันละ 5 บาท 10 บาท ทุกๆ วันจนเป็นนิสัย หรือสำหรับเด็กโต อาจบอกเป้าหมายใหญ่ว่า ถ้าเก็บเงินสิบบาททุกวัน หนึ่งปีลูกก็มีเงินออมแล้ว 3,650 บาท เมื่อเก็บไปเรื่อยๆ อาจมีถึงหลักหมื่นเลยทีเดียว
ส่วนการเลือกใช้กระปุก ไม่ควรมีช่องนำเงินออก หรือแกะง่ายเกินไป เพราะลูกอาจนำเงินมาใช้จ่ายจนหมดก่อนถึงเป้าหมายที่ตั้งใจไว้
ท้ายที่สุดแล้ว พฤติกรรมการใช้เงินของลูกมักมาจากการใช้เงินของพ่อแม่ หากเป็นครอบครัวที่รู้จักใช้เงิน ออมเป็น ลงทุนเป็น ลูกก็จะทำตาม ฉะนั้น ถ้าอยากให้ลูกมีนิสัยทางการเงินอย่างไร ต้องเริ่มต้นที่พ่อแม่ก่อนด้วยนะคะ
นอกจากนี้ หากลูกไม่รู้จากคุณค่าของเงิน ฝึกจัดการเงินไม่เป็น ออมเงินไม่ได้ จะเกิดผลเสียอย่างไรนะ
อยากได้อะไร พ่อแม่ซื้อให้หมด หรือมีเงินเท่าไหร่ จ่ายเต็มที่ แม้ตอนลูกยังเล็ก สิ่งนี้อาจเป็นความสุขที่ทำให้เด็กยิ้มได้ ไม่งอแง แต่การสร้างพฤติกรรมนี้จนติดเป็นนิสัย กลับกลายเป็นการสร้างนิสัยทางการเงินที่ไม่ดี และฟุ่มเฟือยให้ลูก ส่งผลให้ลูกมองเห็นว่าเงินหาง่าย มีก็ใช้ จนอาจไม่มีเงินเก็บ ไม่มีเงินสำรองใช้ยามฉุกเฉิน และอาจถึงขั้นต้องไปสร้างหนี้สินในอนาคต
เงินหมดแบบไม่รู้ตัว หรือเงินเดือนเยอะมากแต่ไม่รู้หายไปไหน สิ่งนี้เกิดจาการมีหนี้สิน การใช้จ่ายฟุ่มเฟือย หรือการนำไปลงทุนมากเกินไป สุดท้ายกลายเป็นว่า หาเงินมาเท่าไหร่ ก็ไม่พอใช้อยู่ดี สิ่งนี้ จะทำให้ลูกต้องเหนื่อยยากกับการหาเงินไปตลอดชีวิต ดังนั้น ควรสอนให้ลูกรู้จักสำรวจความต้องการของตัวเอง รู้จักเปรียบเทียบระหว่างสิ่งจำเป็น-สิ่งฟุ่มเฟือยก่อนตัดสินใจซื้อของ และวางแผนการเงินให้เป็นก่อนใช้
หากลูกวางแผนการเงินไม่เป็น ก็ทำให้ไม่มีเงินเก็บ เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินในชีวิต ผลพวงที่ตามมาคือ หนี้สินแบบไม่ตั้งใจ หากสามารถชำระหมดในคราวเดียวก็ยังพอไหว แต่ถ้าเป็นหนี้ก้อนใหญ่ ต้องใช้การผ่อนชำระยาวนาน ต้องสูญเสียเงินไปกับดอกเบี้ยโดยไม่ได้ประโยชน์กลับมา เป็นวังวนที่ไม่ควรให้เกิดขึ้นเลย
อยากให้ลูกใช้ชีวิตได้อย่างดี มีเงินเก็บ สบายไปตลอดชีวิต ต้องรีบฝึกให้เขาได้คิดวางแผนการเงินนะคะ นอกจากการสอนโดยตรงแล้ว อีกหนึ่งเครื่องมือที่ช่วยในการสอนให้ลูกเข้าใจเรื่องการเงินง่ายๆ ก็คือ การเรียนรู้ผ่านนิทานหรือหนังสือ ตัวอย่างเช่น
นิทานที่สอนให้เด็กๆ ได้รู้จักกับธนบัตรแบบง่ายๆ ทั้งที่เป็นของไทยและของประเทศต่างๆ ผ่านเรื่องราวของลูกหมูที่ตามหาเจ้าของธนบัตรที่หายไป ส่งเสริมให้เด็กๆ ได้เรียนรู้และสนุกกับคณิตศาสตร์ และยังแฝงบทเรียนคุณธรรมในเรื่องความซื่อสัตย์ ความมีน้ำใจ ถือว่าได้ทั้งความสนุก ความรู้ และข้อคิดดีๆ ในเล่มเดียวเลย
การ์ตูนความรู้ขวัญใจเด็กๆ “ครอบครัวตึ๋งหนืด” ที่เล่มนี้ จะสอนเคล็ดลับให้ใช้เงินอย่างคุ้มค่า ด้วยเงิน 30 บาท ซึ่งใครจะรู้ล่ะว่า เงินเท่านี้ จะสามารถใช้มันทำอะไรได้ตั้งหลายอย่าง เช่น ใช้เงิน 30 บาทจัดงานขึ้นบ้านใหม่และงานวันเกิดพร้อมกัน ใช้เงิน 30 บาทไปเที่ยววันหยุด ใช้เงิน 30 บาทนัดเพื่อน ใช้เงิน 30 บาทกินข้าวเย็น มาเรียนรู้กลยุทธ์การประหยัดจากเงิน 30 บาท ไปกับครอบครัวตึ๋งหนืดกันเลย
หนังสือนิทานภาพสวย เนื้อเรื่องอบอุ่น โดดเด่นด้วยภาพที่มีความละเอียดสวยงาม เหมาะสำหรับให้ผู้ปกครองและเด็กๆ อ่านไปด้วยกันก่อนนอน จัดเต็มความสนุกและความรู้ ส่งเสริมให้เด็กๆ รู้จักกับเงิน เข้าใจเรื่องการเงิน และตระหนักได้ถึงการสร้างรากฐานความมั่งคั่งที่แข็งแรง เหมาะสำหรับเด็กอายุ 3-7 ขวบเลย
การ์ตูนความรู้อีกเล่ม ที่จะช่วยให้เรียนรู้เรื่องเศรษฐศาสตร์เบื้องต้นได้แบบง่ายๆ และเรียนรู้วิธีใช้จ่ายอย่างชาญฉลาด ผ่านเรื่องราวของ นิ้ม สาวน้อยจอมตืดที่ประหยัดไปซะทุกเรื่อง และเนย พี่สาวของนิ้ม ที่ชอบใช้จ่ายเกินตัว เพื่อนๆ ของทั้ง 2 จะช่วยให้ 2 พี่น้องเป็นคนที่มีจุดมุ่งหมายในชีวิตที่ชัดเจน มากกว่าจะเป็นแค่คนที่สนใจแต่เรื่องวัตถุและเงินๆ ทองๆ ได้หรือไม่ ต้องมาติดตามเนื้อเรื่องสนุกๆ และบทเรียนที่จัดเต็มในเล่มนี้เลย
ปิดท้ายด้วยเล่มนี้ ที่เหมาะกับพ่อแม่ที่อยากได้ไอเดียในการสอนการเงินให้ลูก เนื้อหาในเล่ม จะชี้ให้เห็นความแตกต่างในการทำงาน การหารายได้ และการบริหารเงินของคนใน 4 ลักษณะอาชีพ ได้แก่ ลูกจ้าง คนทำธุรกิจส่วนตัว เจ้าของกิจการ และนักลงทุน พร้อมคำแนะนำและข้อชี้แนะว่าต้องทำอย่างไร จึงจะมีอิสระภาพทางการเงิน พ่อๆ แม่ๆ สามารถนำเทคนิคดีๆ ต่างๆ ไปสอนลูกต่อได้เลย
นอกจากการปลูกฝังเรื่องการเงินให้กับลูกแล้ว คุณพ่อคุณแม่ต้องไม่ลืมสอนให้ลูกรู้จักวิธีรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในชีวิตควบคู่กันด้วย เพราะบางครั้ง แม้เราจะวางแผนการเงินไว้ดีแค่ไหน แต่อาจเกิดสิ่งที่ไม่คาดคิดได้ การฝึกฝนจิตใจให้เข้มแข็ง พร้อมรับมือต่อทุกปัญหาา จะช่วยให้ลูกผ่านอุปสรรคไปได้เช่นกัน