บีทูเอสคลับ ร่วมกับ ศูนย์แต้จิ๋ววิทยา มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ นำเสนอคอนเทนต์และสาระดีๆ ที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมจีนแต้จิ๋ว และวิทยาศาสตร์สุขภาพ องค์ความรู้อันโดดเด่นของมหาวิทยาลัยหัวเฉียวฯ นั่นเอง และวันนี้ จะมาประเดิมสาระแรก ว่าด้วยเรื่อง ‘ก้วย’ ที่ไม่ใช่กล้วย ของคนจีนแต้จิ๋วกันค่ะ
ก้วย ( 粿 ) เป็นของว่างที่ทำจากข้าวและผักหลากหลายชนิด เป็นอาหารที่แสดงถึงตัวตนและวัฒนธรรมตลอดจนเอกลักษณ์เฉพาะของคนจีนแต้จิ๋ว มีทั้งแบบมีไส้ และไม่มีไส้ ซึ่งเรียกรวมว่า เสียวเจี๊ยะ(小食) อันหมายถึง ของกินเล็ก ๆ น้อย ๆ หรือของว่าง ของกินเล่น
ด้วยวัตถุดิบที่นำมาแปรรูป ทำให้ “ก้วย” แต่ละชนิดมีชื่อเรียกแตกต่างกัน และมีรูปลักษณ์รูปแบบที่หลากหลาย อาทิ ขนมกุ่ยช่าย หรือ กู่ไช้ก้วย ( 韭菜粿 ), ขนมถ้วยฟู หรือ ฮ๊วกก้วย ( 发粿 ), ขนมผักกาด หรือ ไช้เถ่าก้วย ( 菜头粿 ) หรือแม้แต่อาหารที่คนไทยเรานิยมบริโภคและคุ้นเคยเป็นอย่างดี นั่นก็คือ ก๋วยเตี๋ยว หรือในภาษาจีนแต้จิ๋วออกเสียงว่า ก๋วยเตี๊ยว ( 粿条 ) ก็จัดเป็นก้วยอีกรูปแบบหนึ่ง
คนแต้จิ๋วบริโภคข้าวเจ้าเป็นหลัก แต่เนื่องจากสัดส่วนของพื้นที่การเพาะปลูกกับปริมาณของผู้คนที่มีมากกว่า ทำให้ผลผลิตข้าวที่ได้นั้นมีน้อยไม่พอกิน แต่คนจีนแต้จิ๋วไม่ย่อท้อต่อโชคชะตา มีสติปัญญาที่ชาญฉลาด จึงได้รังสรรค์เมนูอาหารต่าง ๆ ขึ้นจากวัตถุดิบที่มีอยู่อย่างจำกัด เพื่อแปรรูปอาหารให้ได้ปริมาณที่เพียงพอกับความต้องการ
แต่ด้วยความยากจนแร้นแค้น อีกทั้งยังได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติที่รุนแรงอยู่บ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นอุทกภัย วาตภัย กีฏภัย(ภัยจากแมลง) และภัยจากแผ่นดินไหว ตลอดจนภัยจากสงครามกลางเมือง ทำให้ประชากรมีความเป็นอยู่อย่างยากลำบาก ส่งผลให้คนแต้จิ๋วต้องอพยพโยกย้ายถิ่นฐานเพื่อเอาตัวรอด มายังประเทศต่าง ๆ ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาทิ เวียดนาม กัมพูชา รวมถึงประเทศไทยของเรานั่นเอง วัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิมของคนแต้จิ๋วจึงถูกส่งต่อสืบทอดมาด้วย โดยเฉพาะอาหารการกิน ที่ถูกเผยแพร่ให้คนในแถบภูมิภาคอาเซียนได้รู้จักและลิ้มชิมรสจนกลายเป็นอาหารที่ถูกปากคนท้องถิ่นและได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย
ในประเทศไทยเรานี้ก็มีขนมหรือของว่างที่เป็นอาหารของคนจีนแต้จิ๋วที่คุ้นเคยและรู้จักกันดี นั่นก็คือ ขนมเข่ง หรือในภาษาจีนแต้จิ๋วออกเสียงขนมชนิดนี้ว่า ตีก้วยหรือเตี่ยมก้วย ( 甜粿 )
คำว่า “ตี” หรือ “เตี๊ยม” ในภาษาจีนแต้จิ๋วมีความหมายว่า หวาน เป็นขนมที่มีวัตถุดิบหลักคือแป้ง น้ำกับน้ำตาล ผ่านกรรมวิธีการปรุงสุกด้วยการนึ่ง ที่ใช้เวลาค่อนข้างนาน ทำให้ขนมนี้เมื่อสุกแล้วสามารถเก็บไว้บริโภคได้นาน ในประวัติศาสตร์ของการโยกย้ายถิ่นฐานของคนแต้จิ๋ว ขนมชนิดนี้ ถือเป็นเสบียงหลักของผู้คนที่นำติดตัวและล่องเรือมายังต่างแดนด้วย ดังมีคำกล่าวของคนจีนในยุคนั้นที่ว่า “บ่อไหน่ฮ้อชวยตี่ก้วย พะขี้เปาก้อก้วยเสี่ยมล้อ (无奈何炊甜粿,打起包裹过暹罗)” แปลว่า “ไม่รู้จะทำอย่างไร ก็ต้องนึ่งขนมเข่ง และเก็บเสื้อผ้าไปสยาม” (คนจีนแต้จิ๋วเรียกประเทศสยามว่า “เสี่ยมล้อ”) ข้อความนี้สะท้อนให้เห็นได้เป็นอย่างดีว่า ขนมเข่งกับคนแต้จิ๋วนั้น มีความสำคัญอย่างยิ่งกับพวกเขา เป็นทั้งอาหารและเพื่อนในยามยาก แม้ว่าปัจจุบันบรรพบุรุษชาวจีนแต้จิ๋วที่อพยพลี้ภัยเหล่านี้ จะประสบความสำเร็จในอาชีพการงาน ส่วนใหญ่ได้เป็นเจ้าสัว หรือเป็นมหาเศรษฐีแล้วก็ตาม แต่ขนมเข่งก็ยังคงอยู่ในความทรงจำและเป็นขนมมงคลประจำเทศกาลตรุษจีนที่ขาดไม่ได้ แสดงถึงความเจริญก้าวหน้าและการเติบโตที่ไม่หยุดหย่อน
นอกจากขนมเข่งแล้ว ยังมี ขนมถ่อก้วย ( 桃粿 ) ขนมอั่งก้วย (红粿) หรือขนมอั่งคักท้อ (红壳粿) ล้วนเป็นชื่อขนมชนิดเดียวกัน ใช้เรียกขนมที่มีลักษณะทรงกลมรี เหมือนผลของลูกท้อ วัตถุดิบหลักประกอบด้วย แป้งข้าวเจ้า แป้งข้าวเหนียว ผงข้าวแดงป่น (红壳粉) มีไส้อยู่ข้างใน นำมาขึ้นรูปกับพิมพ์ไม้ ซึ่งพิมพ์ไม้นี้ ถือเป็นอีกหนึ่งงานศิลปะหัตถกรรมที่งดงามของช่างแต้จิ๋ว โดยลวดลายที่สลักไม่มีตายตัว แต่จะสลักลายที่แสดงความหมายมงคล รูปทรงของพิมพ์ด้านในแกะทรงคล้ายใบโพธิ หรือทรงรูปลูกท้อ ซึ่งลูกท้อนี้ถือเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นสิริมงคล สื่อความหมายในเรื่องอายุวัฒนะ คือการมีอายุที่ยั่งยืนยาวนาน ขนมชนิดนี้จึงถือเป็นขนมสำคัญในวัฒนธรรมและประเพณีของคนแต้จิ๋วที่ขาดไม่ได้อีกด้วย
มาทำความรู้จักกับวัฒนธรรมแต้จิ๋วให้มากยิ่งขึ้น เรียนรู้การทำ “ขนมถ่อก้วย” กับผู้เชี่ยวชาญด้านขนมและอาหารในวัฒนธรรมแต้จิ๋ว ราคาพิเศษ 1,999 บาท พร้อมไปท่องเที่ยวเก๋ ๆ “One Day Trip วัฒนธรรมแต้จิ๋วสัญจร” พาซึมซับวัฒนธรรมแต้จิ๋ว ชมวิถีจีนเก่าริมแม่น้ำบางประกง ชวนไหว้เจ้าเสริมสิริมงคล ชิมช้อปที่ตลาดแปดริ้ว แล้วมาตามรอยมังกรแถบถิ่นเมืองบางปลาสร้อย ราคาพิเศษ 2,500 บาท สิทธิพิเศษนี้้สำหรับสมาชิก B2S CLUB เท่านั้น
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม Facebook: ศูนย์แต้จิ๋ววิทยา มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ 泰国华侨崇圣大学潮学中心