คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่า คนที่ชอบเก็บตัว ดูเครียด ซึมเศร้า มีแนวโน้มอยากทำร้ายตัวเอง คือผู้ป่วยซึมเศร้าเท่านั้น ซึ่งความจริงแล้วว...ยังมีโรคจิตเวชอีกชนิดหนึ่งที่มีอาการคล้ายกัน นั่นก็คือ ‘โรคไบโพลาร์’ ซึ่งโรคนี้ สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศ ทุกวัย และยังมีคนอีกหลายคน ที่ไม่รู้ตัวว่ากำลังเผชิญกับโรคร้ายนี้
โรคไบโพลาร์ (Bipolar Disorder) คือภาวะทางจิตเวชที่เกิดจากความผิดปกติทางอารมณ์ ทำให้ผู้ป่วยมีความรู้สึกที่ตรงข้ามกันอย่างสุดขั้ว โดยบางที อาจรู้สึกเศร้ามากแบบไม่มีสาเหตุ อยากร้องไห้ เป็นทุกข์ ไม่อยากมีชีวิตอยู่แล้ว แต่จากนั้นไม่นาน กลับรู้สึกมีความสุข อารมณ์ดีแบบผิดปกติ หัวเราะเฮฮา สนุกสนาน และพูดเก่ง ผู้ป่วยบางคน อาจมีอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งเพียงด้านเดียวก็ได้ แต่จะมีในเลเวลที่มากเกิน ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต เป็นอุปสรรคต่อการเรียนและการทำงาน เพราะมีภาวะทางอารมณ์ที่อยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมไม่ได้
โรคนี้ เกิดจากการทำงานที่ผิดปกติของสมอง โดยมีสารสื่อประสาทที่ไม่สมดุล ทำให้เซลล์สมองส่วนควบคุมอารมณ์ผิดปกติ แต่ในทุกวันนี้ ก็ยังไม่มีผลวิจัยหรือสามารถวิเคราะห์สาเหตุที่ชัดเจนได้ว่า โรคนี้เกิดจากอะไรกันแน่ ซึ่งอาจมีได้หลายปัจจัย เช่น ความผิดปกติทางพันธุกรรมของตัวอ่อนตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา มีข้อมูลทางการแพทย์พบว่า ถ้าพ่อหรือแม่เป็นโรคซึมเศร้า ลูกเองก็มีโอกาสเป็นโรคไบโพลาร์ประมาณ 15 – 25 เปอร์เซ็นต์ด้วย
ดังนั้น คนทั่วไปก็มีโอกาสเป็นโรคนี้เช่นกัน โดยพบว่า วัยรุ่นในช่วงอายุ 15 – 19 ปี ตรวจพบอาการไบโพลาร์ครั้งแรกประมาณ 1.5 – 5 เปอร์เซ็นต์ของประชากร หรืออาจมีผู้ป่วยบางส่วนที่แสดงอาการตั้งแต่ก่อนเข้าวัยรุ่น ซึ่งมักมีสาเหตจากเหตุการณ์สะเทือนใจหรือได้รับความเครียดจัด เช่น คนในครอบครัว หรือคนรักเสียชีวิต การผิดหวังจากความรัก การเรียน หรือการทำงาน เป็นต้น
อาการของโรคไบโพลาร์ สามารถสังเกตได้จากพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป มีอารมณ์แปรปรวนเดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย ซึ่งจะเห็นได้ชัดแบบต่างกันสุดขั้ว หากสังเกตเห็นอาการผิดปกติได้ตั้งแต่เนิ่นๆ ก็สามารถรักษาให้หายได้ ดังนั้น ครอบครัว คนรอบตัว และตัวเราเอง ควรต้องคอยสังเกตสัญญาณของโรคไบโพลาร์เหล่านี้ให้ดี
ในกรณีที่ผู้ป่วยเริ่มเป็นโรคตั้งแต่อายุยังน้อย มักพบโรคอื่นร่วมด้วย เช่น โรควิตกกังวล จะมีช่วงเวลาที่อารมณ์ปกติสั้นลง รุนแรงถึงขั้นมีแนวโน้มพยายามฆ่าตัวตายและมีพฤติกรรมรุนแรงมากขึ้นด้วย
หากตัวเองหรือครอบครัวพบว่า เริ่มมีอาการดังกล่าวแล้ว ควรไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการประเมินสภาพจิตและวินิจฉัยโรคโดยทันที
สำหรับแนวทางการรักษาของแพทย์ จะเป็นการรักษาด้วยยาและการดูแลควบคู่กันไป โดยกลุ่มยาที่ใช้ จะไม่ใช่ยากล่อมประสาทหรือยานอนหลับ ผู้ป่วยและครอบครัวไม่ต้องกังวลเลยว่าจะติดยาเมื่อใช้ต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน โดยแพทย์จะใช้ยา 3 กลุ่มในการรักษา ได้แก่ กลุ่มยาควบคุมอารมณ์ ใช้เมื่อมีอาการอารมณ์ดีผิดปกติ ยาต้านโรคจิต ใช้เมื่อมีอาการวุ่นวายและมีพฤติกรรมสร้างปัญหามาก และยาต้านซึมเศร้า ใช้เมื่อผู้ป่วยอยู่ในภาวะซึมเศร้า
ทั้งนี้ โรคไบโพลาร์สามารถรักษาให้หายสนิทได้ แต่จะไม่หายขาด ผู้ป่วยจะกลับไปมีสภาวะอารมณ์ที่ปกติ ทำงานได้ เรียนหนังสือได้ แต่อาจมีอาการกำเริบขึ้นมาได้อีก โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงหรือมีอาการกำเริบบ่อย แพทย์อาจพิจารณาให้กินยาต่อเนื่อง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ต่างๆ
นอกจากนี้ การดูแลจากคนในครอบครัวเองก็เป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะการหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดภาวะกระตุ้น เช่น ความกดดัน เครียดจัด ดังนั้น ผู้ป่วยจะต้องรักษาสภาพจิตใจและร่างกายให้ดี โดยการนอนหลับให้เพียงพอ กินอาหารที่มีประโยชน์ ไม่เสพยาเสพติด ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เป็นต้น
โรคไบโพลาร์ เป็นโรคที่ต้องอาศัยความเข้าใจ ครอบครัวหรือผู้ดูแล ควรต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคนี้ให้เร็วและมากที่สุด โดยขอรับคำปรึกษาจากจิตแพทย์ และต้องหมั่นสังเกตอาการของผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด หากพบความผิดปกติ ควรพามาพบแพทย์ทันที และที่สำคัญ ผู้ดูแลที่ต้องรับมือกับอารมณ์รุนแรงของผู้ป่วย ก็ต้องดูแลสุขภาพร่างกายและจิตใจของตัวเองให้ดีเช่นกัน
การดูแลผู้ป่วยไบโพลาร์ เป็นเรื่องที่ต้องอาศัยความอดทนและความเข้าใจอย่างมาก ผู้ดูแลต้องแบ่งเวลามาดูแลสุขภาพกายและใจของตัวเองด้วย อาจหาคนมาช่วยสับเปลี่ยนดูแลเพื่อไปพักผ่อนเป็นระยะ รู้จักวิธีฝึกผ่อนคลายความเครียดอย่างเหมาะสม และอีกหนึ่งวิธีสำคัญที่ผู้ดูแลต้องทำเป็น คือ การหล่อเลี้ยงความคิดของตัวเองให้มีพลังเสมอ อาจฝึกด้วยการมองโลกในแง่บวก แม้สถานการณ์ภายนอกอาจจะเปลี่ยนแปลงไม่ได้ แต่ความคิดดีๆ ของเราเปลี่ยนแปลงได้ การเปลี่ยนความคิด จะทำให้เราใช้ชีวิตดูแลผู้ป่วยได้อย่างดีและมีความสุขมากขึ้น