หลังจากผ่านช่วงหยุดยาวกันมาอย่างสนุกสนาน ความเซื่องซึมเหงาหงอยก็ค่อย ๆ คืบคลานเข้ามาแทนที่ 555 วันหยุดสงกรานต์ที่ผ่านมา ถ้าไม่ได้ออกไปเล่นน้ำจนฉ่ำปอด เพื่อน ๆ ชาว B2S Club คงได้ทลายกองดองกันจนฉ่ำใจไปแล้วหลายเล่มแน่ ๆ
พอกลับสู่โหมดชีวิตจริง หมดช่วงเทศกาลสุดครึกครื้น ชาวเราที่เป็นวัยทำงานก็ต้องกลับไปเผชิญความยุ่งเหยิง (ที่ค่อนข้างห่างไกลจากความครึกครื้น) กันต่อ ส่วนใครที่ยังเป็นวัยเรียน แม้ว่าจะเป็นช่วงปิดเทอม ก็ยังคงมีเรื่องว้าวุ่นใจให้สะสางอยู่ไม่น้อย แต่ไม่ว่าจะอยู่วัยไหน เราต่างก็มีสารพัดปัญหาเข้ามาทักทายไม่หยุดหย่อนจนต้องกุมขมับทุกวัน ทั้งเรื่องเพื่อน เรื่องเรียน เรื่องงาน เรื่องความรัก เรื่องคนในครอบครัว เรื่องสังคมรอบ ๆ ตัว และอีกมากมายหลายสิ่งอย่าง
วันนี้เราเลยมีหนังสือที่ชื่อว่า “เราทุกคนก็มีตอนที่เป็นบ้ากันทั้งนั้น” มาแนะนำให้เพื่อน ๆ อ่าน เพราะเป็นเล่มที่นอกจากจะแชร์ประสบการณ์ขม ๆ เฝื่อน ๆ ของผู้เขียนที่ทั้งตลกร้าย ขบขัน และชวนหดหู่อยู่บ้าง ก็ยังมีข้อคิดจากเรื่องเล่าที่ (น่าจะ) ช่วยให้เรามูฟออนจากเรื่องราวและผู้คนที่น่าหยุมหัวแรง ๆ ได้ไม่มากก็น้อย จะมีประเด็นไหนน่าสนใจ ไปอ่านรีวิวเล่มนี้กัน
เนื้อเรื่องย่อ
“เราทุกคนก็มีตอนที่เป็นบ้ากันทั้งนั้น” เป็นหนังสือแนว Self-Help ที่เขียนโดยคุณชองจีอึม นักเขียนผู้ป่วยเป็นโรคสมาธิสั้นและซึมเศร้า รู้แค่นี้ก็พอเดากันได้อยู่ว่าเนื้อหาอาจจะหนักหน่วง อันที่จริง แม้ว่าจะหนักในเชิงความรู้สึก ที่บางทีอ่าน ๆ ไปก็สะท้านสะเทือนใจ ทำให้ได้นึกย้อนกลับไปถึงหลาย ๆ เหตุการณ์ที่ทั้งดี แย่ และไม่อยากนึกถึง แต่ไม่รู้สิ การที่ได้ซึมซับเรื่องราวเหล่านี้ กลับยิ่งทำให้รู้สึกว่าเหมือนว่ามีเพื่อน เราไม่ได้เจอเรื่องเหลวแหลกชวนหัวใจสลายอยู่เพียงลำพัง พอได้รับรู้แบบนี้ ใจมันก็เบาขึ้นอย่างบอกไม่ถูก
ในเล่มนี้จะพูดถึงความรู้สึกนึกคิดของผู้เขียนที่มีต่อความสัมพันธ์ บริบทรอบข้างในชีวิต และประสบการณ์หลากหลายรูปแบบที่เจอมาแล้วอยากจะเล่าสู่กันฟัง มีตั้งแต่เรื่องครอบครัว ความคาดหวังต่าง ๆ นานา เรื่องวัยเด็ก เรื่องเรียน เรื่อง (อดีต) คนรัก เรื่องเพื่อนที่สนิทกันและที่เคยสนิท เพื่อนร่วมงาน เพื่อนบ้าน หัวหน้างาน สังคมในที่ทำงาน ความไม่มั่นใจในตนเอง การก้าวข้ามผ่านเรื่องยากลำบากเพียงลำพัง รวมไปมุมมองจากสายตาผู้เขียนที่มองไปยังชีวิตผู้อื่น
นับว่าเป็นหนังสือเกี่ยวกับความสัมพันธ์ที่คล้ายจะช่วยสอนให้นักอ่านอย่างเรา ๆ ได้ฝึกยอมรับความเป็นธรรมชาติของการเปลี่ยนแปลง และธรรมชาติของความแตกต่างในแง่ที่ว่า คนทุกคนที่เติบโตมาไม่เหมือนกันย่อมมีความคิดที่ไม่เหมือนกันได้เป็นอย่างดี เพื่อสุขภาพจิตและสังคมที่ดีขึ้น (อย่างน้อย ๆ ก็เรานี่แหละที่จะเบาสบายขึ้นจากการไม่ต้องคาดหวังกับใครหรืออะไรมากเท่าแต่ก่อน)
ลักษณะการเล่าก็จะเน้นเล่าพรรณนาเป็นเรื่อง ๆ ไป และจะแบ่งออกเป็น 3 Chapter โดยเริ่มจาก “ความผิดหวังที่ฉันหลงรัก” > “เสียงของโลกที่ปะทะกัน” > “กับตัวฉันที่ห่างไกล กับตัวเธอที่ใกล้ชิด” ซึ่งแต่ละบทก็จะมีเรื่องราวแยกย่อยอยู่ในนั้นหลายเรื่อง ภาษาที่เล่าก็สนุกเป็นกันเอง เล่าซะเห็นภาพตามไปหมด ยังคิดอยู่ในใจว่านักแปลแปลได้ดีมาก ๆ เช่นเดียวกันกับนักเขียนที่เลือกใช้คำและการเปรียบเทียบที่อ่านแล้วทั้งสนุก ทั้งเศร้า ทั้งเหมือนได้รับการปลอบใจในเวลาเดียวกัน บางเนื้อหาแม้อาจไม่สามารถนำมาปรับใช้ได้ในสถานการณ์ของเราเอง แต่ก็นับว่ามีประโยชน์ ช่วยให้เราได้เข้าใจมุมมองและการใช้ชีวิตท่ามกลางความเว้าแหว่งได้ดีขึ้น
ตัวอย่างข้อความในหนังสือ :
“ภายหลังเมื่อต้องกลับเข้าไปทำงานในบริษัทที่น่าอเนจอนาถใจอีกครั้ง ฉันก็เตรียมกายเตรียมใจ ตั้งระบบให้เหมือนการเล่นเกมซิม ฉันคิดเสียว่าตัวเองเป็น ‘ซิม’ ต่อให้หน้าที่ที่รับผิดชอบและเกียรติยศจะไปไม่ถึงที่ตั้งไว้ ก็แค่กลับไปสู่สภาพ 0 เริ่มนับหนึ่งใหม่เท่านั้นเอง”
“ระหว่างที่ทุกข์ทรมานใจ ฉันนึกถึงคำสอนที่ว่า ‘จงรักศัตรู’ ขึ้นมา ก่อนตัวเองจะมีศัตรู นี่เป็นคำพูดที่ไม่อาจเข้าใจได้อย่างลึกซึ้ง แต่หลังจากมีแล้ว ฉันค้นพบว่าการเกลียดใครสักคน เหนื่อยกว่าการชอบใครเป็นร้อยเท่า”
“สำหรับฉัน การปรับทุกข์เปรียบเสมือนฟืน ยิ่งผู้ฟังให้ความชอบธรรมแก่การกระทำของเรามากเท่าไหร่ ความโกรธแค้นก็ยิ่งลุกโชนขึ้นอีก ถ้าไม่เจอปฏิกิริยาเย็นชาเหมือนถูกสาดด้วยน้ำเย็น เปลวไฟแห่งความโกรธแค้นในใจก็ยากที่จะดับลงได้ ฉันรู้สึกขอบคุณผู้คนทั้งหลายที่เปรียบเสมือนนักดับเพลิงกิตติมศักดิ์ ผู้ช่วยรับมือกับความอ่อนด้อยของตัวฉันในเวลานั้นจากใจจริง”
“พวกเราทำชีวิตตัวเองพินาศ โดยไม่จำเป็นต้องมีใครมาวางแผนการร้าย เพราะแบบนั้น ตอนรักกันก็เลยเผลอทำลายกัน ต้องกลับมาอยู่มาทนเหงาคนเดียวต่อไป”
“ท้ายที่สุดฉันยอมรับว่าตัวเองไม่ใช่คนดี ซึ่งไม่ได้เลวร้ายอะไรเลย ยกเลิกโปรเจกต์ ‘ต้นไม้ผู้ให้’ แล้วเริ่มเรียนรู้การหยอกล้อคนอื่น เนื่องจากตระหนักว่าในบริษัท การพูดปฏิเสธให้เป็น สำคัญกว่าการรับปากอย่างเต็มใจ”
ความประทับใจ : ยอมรับตรง ๆ ว่าตัวเราก็เป็นคนหนึ่งที่ตัดสินคนได้ง่ายแม้รู้จักกันเพียงแค่ผิวเปลือก และไม่เคยเข้าใจว่าทำไมคนอื่นต้องมาพูดจาไม่ดีหรือทำอะไรร้าย ๆ ใส่เรา พอได้อ่านเล่มนี้แล้ว เหมือนมีคนมาเคาะระฆังข้าง ๆ หูให้ตื่นรู้ 5555 คือมันเป็นข้อเท็จจริงที่เรารู้อยู่แล้ว แต่เราก็หลงลืมมันไปเพราะนึกถึงแต่ตัวเอง ความจริงข้อนั้นก็คือข้อที่ว่า คนทุกคนก็คือมนุษย์ ทุกคนมีวันที่หลุด มีวันที่เฟล มีวันที่เป็นบ้ากันทั้งนั้น ไม่มีใครดีตลอดไปหรือชั่วตลอดไป แม้กระทั่งเราเองก็มีช่วงที่ทำสิ่งไม่น่ารักใส่ใคร ๆ ไป ทั้งแบบที่รู้ตัวบ้าง ไม่รู้ตัวบ้าง ทั้งหมดทั้งมวลจึงประทับใจกับเล่มนี้มาก เพราะไม่เพียงได้รู้เรื่องราวที่นักเขียนตั้งใจเล่า แต่มันยังเหมือนได้ถือกระจกบานใหญ่ส่องสะท้อนเข้าไปในตัว เข้าไปในใจ
แถมภาษาและเรื่องราวที่เล่า แม้มันจะสะเทือนใจบ้าง แอบนอยตาม แต่กลับอ่านสนุกอย่างบอกไม่ถูก เหมือนได้ฟังเรื่องเล่าประสบการณ์ชีวิตจากพี่สาวที่เป็นผู้ประสบภัยท่านหนึ่ง ฝ่ามรสุมชีวิตใด ๆ มามากมาย แต่ก็ผ่านพ้นมันมาได้ ด้วยดีหรือเปล่าไม่รู้ รู้แค่ว่าพี่สาวคนนี้หัวใจแข็งแรงขึ้นมาก ไม่ใช่ด้วยการปล่อยวาง แต่ด้วยการเข้าใจ จึงได้ออกมาเป็นหนังสือเล่มนี้ที่ช่วยชุบชูใจผู้ประสบภัยอย่างเรา ๆ ในวันที่เจอเรื่องห่วยแตกหรือคนแย่ ๆ
ทำไมถึงควรอ่านเล่มนี้ :
ตอนนี้โลกมันก็ร้อนอยู่แล้ว ยิ่งอากาศบ้านเราที่ร้อน ๆ แบบนี้ก็ยิ่งไม่ต้องพูดถึงเลยว่า ใจของคนจะร้อนกว่าขนาดไหน เราว่าเล่มนี้เป็นเหมือนพัดลมจิ๋วที่ทุกคนควรจะมีไว้ใช้จ่อเป่าเบา ๆ ไล่ความร้อน ให้ใจเราเย็นกับคนรอบข้างที่จู่ ๆ นึกจะร้อนขึ้นมาก็ร้อนง่าย ๆ ได้ หรือบางทีนี่อาจเป็นเหมือนหลักสูตรห้ามทัพฉบับย่อที่ช่วยเตือนให้เราไม่ถือสาความบ้า ความวายป่วง ความวีนเหวี่ยงที่เผลอฟาดงวงฟาดงามาถึงเราได้บ้าง เพราะก็มีช่วงที่เราทำเช่นนั้นกับคนอื่น ไม่ต่างกัน
ท้ายที่สุด สิ่งที่เล่มนี้อยากจะบอกเรา ก็อาจเป็นเรื่องที่ว่า แม้คนรัก คนสนิท พ่อแม่ เพื่อนร่วมงาน หรือคนใกล้ตัวเราจะน่าหยุมหัวมากแค่ไหนก็ตาม ในสายตาคนอื่นที่มองเข้ามา เราก็อาจเป็นคนที่น่าหยุมหัวแรง ๆ ไม่แพ้กันก็ได้ เพราะงั้นการได้อ่านเล่มนี้ อาจทำให้เราได้รู้จักการเว้นพื้นที่ เว้นระยะต่อกัน รู้จักวางเฉยกับความแปรปรวนใด ๆ ที่เกิดขึ้น พร้อมกันนั้น ยังได้รู้จักตัวเอง และเข้าใจความแตกต่างในสรรพสิ่งทั้งหลายอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน