อาการเจ็บคอ หรือ คออักเสบ เป็นโรคหนึ่งที่พบได้บ่อย อาจจะมีอาการเดี่ยวๆ หรือ มีอาการร่วมกับอาการกลุ่มไข้หวัด เช่น ปวดหัว ตัวร้อน ปวดเมื่อยเนื้อเมื่อยตัว มีน้ำมูลไหล คัดจมูก ไอ มีเสมหะ ฯลฯ โดยอาการเจ็บคอจะมีระดับความรุนแรงตั้งแต่น้อยๆ ได้แก่ คอแห้งๆ ระคายคอ ซึ่งมักจะรับประทานน้ำหรืออาหารได้ปกติ หรืออีกระดับคืออาการรุนแรงมากขึ้นจนเจ็บคอมากขนาดที่รับประทานอาหารลำบาก เหมือนมีอะไรบาดที่คอเวลากลืนอาหาร
อาการเจ็บคอ หรือ คออักเสบนี้ เกิดได้จากหลายสาเหตุ แต่ที่พบบ่อยคือจะเกิดจากการติดเชื้อไวรัส คิดเป็นร้อยละประมาณ 80 ส่วนที่เหลือไม่ถึงร้อยละ 20 จะเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย และอีกเล็กน้อยที่เกิดจากสาเหตุอื่นๆ เช่น ระคายเคือง เป็นต้น
อาการเจ็บคอทั้งจากที่เกิดจากไวรัส และเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย จะมีวิธีการดูแลรักษาที่แตกต่างกัน ซึ่งคนทั่วไปจะเชื่อว่า “หากเจ็บคอ ควรได้รับยาแก้อักเสบ” (ซึ่งเป็นยาที่มีฤทธิ์ฆ่าเขื้อแบคทีเรีย) เป็นความคิดที่มีส่วนถูกต้อง หากการติดเชื้อครั้งนั้นเกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่พบได้น้อยกว่าร้อยละ 20 แต่จะไม่ถูกต้อง หากการติดเชื้อครั้งนั้นมีสาเหตุจากเชื้อไวรัส เพราะยาต้านเชื้อแบคทีเรีย ไม่มีผลต่อเชื้อไวรัสนั่นเอง
(ในบางครั้ง อาการเจ็บคอจากเชื้อไวรัสจะมีอาการดีขึ้นหลังจากใช้ยาปฏิชีวนะ ทั้งนี้ ไม่ได้เกิดจากฤทธิ์ของยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย แต่เกิดจากภูมิคุ้มกันของร่างกายที่ดีขึ้น และสู้กับไวรัสได้)
อาการเจ็บคอจากไวรัส จะแตกต่างจากการติดเชื้อแบคทีเรีย โดยพิจารณาจากระดับความรุนแรงของอาการเจ็บคอ หากเจ็บคอจากการติดเชื้อไวรัส มักเริ่มต้นด้วยอาการคอแห้ง จนถึงเจ็บคอเล็กน้อยในระดับที่ยังพอรับประทานอาหารได้ แต่เจ็บคอจากการติดเชื้อแบคทีเรีย มักจะเจ็บคอมาก ทอนซิลโต มีหนอง ในขนาดที่รับประทานอาหารได้ลำบาก ร่วมกับมีไข้สูง ต่อมน้ำเหลืองใต้คางโต และไม่มีอาการไอ นอกจากนี้ หากมีอาการของไข้หวัด น้ำมูกไหล จาม คัดจมูก หรือไอ มีเสมหะ มักเกิดจากไวรัสเป็นส่วนใหญ่ ดังแสดงในตารางและรูป
ความรุนแรง : มักเริ่มต้นด้วยอาการคอแห้ง จนถึง เจ็บคอเล็กน้อย ในระดับที่ยังพอรับประทานอาหารได้
อาการร่วม : มักมีอาการของไข้หวัด น้ำมูกไหล จาม คัดจมูก หรือไอ มีเสมหะ
ความรุนแรง : มักจะเจ็บคอมาก ทอนซิลโต มีหนอง ในขนาดที่รับประทานอาหารได้ลำบาก ร่วมกับมีไข้สูง ต่อมน้ำเหลืองใต้คางโต และไม่มีอาการไอ
อาการร่วม : มักไม่พบอาการของไข้หวัด น้ำมูกไหล จาม คัดจมูก ไอ มีเสมหะ โดยมีอาการเจ็บคอเด่น ร่วมกับไข้สูงเท่านั้น
ในการดูแลรักษาอาการเจ็บคอที่เกิดจากเชื้อไวรัส จะไม่มียาฆ่าเชื้อไวรัสโดยตรง แต่อาจจะใช้ยาช่วย เช่น ยาอมแก้เจ็บคอ สมุนไพรฟ้าทะลายโจร ยาพ่นคอ เป็นต้น ซึ่งอาการเจ็บคอจะค่อยๆ ดีขึ้น
ส่วนการเจ็บคอจากการติดเชื้อแบคทีเรีย จะต้องใช้ยาปฏิชีวนะติดต่อกัน 5-10 วันเพื่อรักษา และป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อน
อีกเหตุผลหนึ่งที่เสนอให้แยกโรคเจ็บคอ ให้การดูแลอย่างเหมาะสม และใช้ยาปฏิชีวนะเฉพาะเมื่อมีการติดเชื้อแบคทีเรียเท่านั้น ก็เพื่อลดโอกาสการดื้อยาของเชื้อแบคทีเรีย การแพ้ยา และค่าใช้จ่ายเรื่องยา โดยเฉพาะประเด็นการดื้อยาที่เป็นปัญหาระดับโลก นับวันจะเป็นปัญหาใหญ่ที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตมากยิ่งขึ้น เฉพาะในประเทศไทย มีคนเสียชีวิตจากเชื้อดื้อยากว่า 3-4 หมื่นคนต่อปี ซึ่งมากเป็นอันดับ3 รองจากโรคหัวใจและสมอง ดังนั้น เราจึงควรใช้ยาปฏิชีวนะเท่าที่จำเป็น เพื่อลดการใช้ยาและลดโอกาสการดื้อยา
บทความโดย อ.ดร.ภก.วิรัตน์ ทองรอด
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ
ศูนย์ยา มฉก. ยินดีให้คำปรึกษาเรื่องยาแก่ประชาชน ติดต่อสอบถาม 02-713-8100 ต่อ 1460