แต่หากวันนี้คุณรู้สึกไม่ไหว เราขอแนะนำให้คุณไปนอน !!
เร็ว ๆ นี้มีโอกาสได้เห็นหลาย ๆ คนออกมาพูดถึงความสำคัญของการ ‘นอน’ และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับสุขภาพในระยะยาว อันเกิดจากการนอนไม่เพียงพอ
ซึ่งแท้ที่จริงแล้วการนอนเป็นกลไกพื้นฐานของสิ่งมีชีวิตที่ทำให้ร่างกายได้หยุดพักเพื่อซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ ใน 1 วันเราควรนอนหลับพักผ่อนอย่างมีคุณภาพ ไม่ต่ำกว่า 7-8 ชั่วโมง
แล้วถ้าไม่นอนจะเกิดอะไรขึ้นล่ะ ?
ผลกระทบที่เกิดจากการไม่นอน แบ่งออกได้ 2 กลุ่มใหญ่ คือ ผลกระทบต่อกายภาพ และผลกระทบต่อความคิดจิตใจ
เรามาเริ่มกันที่กลุ่มแรก ผลกระทบด้านกายภาพ เป็นเรื่องสำคัญที่หลายคนไม่รู้ ว่านอกจากการนอนจะช่วยให้ร่างกายได้พักผ่อนแล้ว ยังส่งผลต่อระบบร่างกายอื่น ๆ โดยตรง
ทั้งช่วยฟื้นฟูพละกำลัง ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ ทำให้ระบบต่าง ๆ ของร่างกายทำงานได้อย่างเป็นปกติ โดยเฉพาะการทำงานของฮอร์โมน
และอีกหนึ่งผลกระทบสำคัญที่เราอาจไม่รู้ตัว คือ การนอนส่งผลระบบประสาทและสมอง โดยเฉพาะในการผลิตสารที่ชื่อว่า เมลาโทนิน (Melatonin) ซึ่งช่วยสร้างเซลล์ประสาทใหม่
ซ่อมแซมเซลล์ประสาทที่ตายแล้ว ที่สำคัญสารตัวนี้ช่วยควบคุมการนอนหลับ กระตุ้นให้ร่างกายจดจำเวลา ตื่น-หลับ ทำกิจกรรม หรือที่หลายคนเรียกว่า นาฬิกาชีวิต นั่นเอง
มาต่อกันที่กลุ่มที่สอง คือ ผลกระทบด้านจิตใจและอารมณ์ หลาย ๆ คน เมื่อนอนไม่พอจะรู้สึกหงุดหงิดง่าย ขี้โมโห เหวี่ยงวีนคนรอบตัวเมื่อไม่ได้ดั่งใจ รู้สึกอ่อนเพลีย จิตใจเกิดความกังวล
มีผลต่อการคิด การตัดสินใจ และการทำงาน อาจจะทำให้เกิดการตัดสินใจผิดพลาด ในบางครั้งที่เรารู้สึกแย่ การไม่นอนพักจะทำให้สถานการณ์ยิ่งแย่ลง กลับกัน ในวันที่อ่อนล้า เหนื่อย และท้อ
ลองนอนหลับพักผ่อนดูสักหน่อย ให้ร่างกายได้ผ่อนคลาย และให้สมองได้หยุดพัก จะเห็นได้ว่า ตัวเราเหมือนได้รีเฟรชกลับมาเป็นคนใหม่ที่สดใสพร้อมรับมือกับทุกปัญหา
เมื่อร่างกายพักผ่อนพอ ชาร์จพลังเต็มหลอด อีกกี่ปัญหาที่ผ่านเข้ามาก็แก้ไขได้อย่างแน่นอน
คำแนะนำสำหรับคนนอนไม่พอ
ธรรมชาติบอกให้เราใช้เวลา 1-3 ของชีวิตไปกับการนอน เพราะการนอนมีส่วนสำคัญที่จะช่วยให้เราแข็งแกร่งทั้งร่างกายและจิตใจ
หากวันไหนรู้สึก ‘doubt’ จนไม่ไหว ลองล้มตัวลงนอน หลับตาสักหน่อย ปล่อยวางทุกปัญหา ขจัดความเหนื่อยล้า ก่อนตื่นเช้ามาสู้ในวันใหม่ แก้ไขได้ทุกอุปสรรค
Quality sleep, Sound mind, Happy world นอนดีมีวินัย สร้างโลกสดใส จิตใจแข็งแรง (คำขวัญวันนอนหลับโลก World Sleep Day w.ศ. 2565)
ทานตะวัน อวิรุทธ์วรกุล. (2564) แก้ปัญหาการนอนไม่หลับ แค่ปรับพฤติกรรม. สืบค้น 25 ตุลาคม 2565, จาก https://www.rama.mahidol.ac.th/ramachannel/article/แก้ปัญหาการนอนไม่หลับ-แ/
ธวัชชัย ลักเซ้ง. (2564) สุขอนามัย 11 ประการ เพื่อการนอนหลับที่ดี. สืบค้น 25 ตุลาคม 2565, จาก https://dmh.go.th/news/view.asp?id=2453
นฤชา จิรกาลวสาน. (2565) นอนดีมีวินัย สร้างโลกสดใส จิตใจแข็งแรง. สืบค้น 25 ตุลาคม 2565, จาก https://chulalongkornhospital.go.th/kcmh/line/นอนดีมีวินัย-สร้างโลกสด/
โรงพยาบาลดีบุก. (ม.ป.ป.) นอนอย่างไรให้เพียงพอ. สืบค้น 25 ตุลาคม 2565, จาก https://www.dibukhospital.com/นอนอย่างไรให้เพียงพอ/
ดีมากเลยค่ะ ปกติแล้วเป็นคนที่นอนดึกและนอนน้อยมากเลยพยายามปรับเวลานอน เพราะส่วนตัวแล้วถ้าไม่ได้นอนก็จะรู้สึกไม่ค่อยมีสติเท่าไรค่ะ จึงเห็นด้วยกับคำว่า When in doubt, go to sleep
0
เมื่อก่อนเคยคิดว่านอนน้อยหรือไม่ได้นอน เเค่ขอบตาดำและมักจะหลงลืม แต่ไม่คิดว่าตอนที่เราหลับอยู่ ร่างกายมันกำลังซ่อมส่วนที่สึกหรอ ในร่างกาย ไม่น่าร่างกายดูอ่อนแอป่วยง่ายเมื่อนอนดึกหรือไม่ได้นอน
0