ไม่ว่าดินสอสีไม้จะเป็นอาวุธคู่มือของคุณ หรือไม่ได้หยิบจับสีไม้มาหลายปี ไม่ต้องห่วง! เรารวม 15 เทคนิคลับคมสกิลสีไม้มาให้ได้ฝึกทักษะกันใหม่ตั้งแต่พื้นฐานเลย
1. การขัดเงา (Burnishing)
การขัดเงาหรือการระบายให้เกิดเงาด้วยดินสอสีไม้ ฟังดูอาจจะน่ากลัว แต่อย่าเพิ่งตกใจ เทคนิคนี้เกิดจากการระบายสีเป็นชั้นทับกันเรื่อย ๆ จนไม่เหลือพื้นเนื้อของกระดาษ กระทั่ง เกิดเป็นมันเงาจากผิวของดินสอสีไม้ เมื่อใดก็ตามที่เราได้ระบายจนเกิดมันเงาแล้ว เราจะไม่สามารถเติมสีอื่นทับลงไปได้อีก ดังนั้นการขัดเงาจะเกิดขึ้นกับการลงสีชั้นสุดท้ายแล้วเท่านั้น
เริ่มต้นการฝึกขัดเงาจากการสร้างชั้นเลเยอร์ ระบายชั้นแรกด้วยน้ำหนักอ่อน และค่อย ๆ ระบายทับให้เข้มข้นจนทึบ แต่ในชั้นสุดท้ายจะต้องออกแรงกดดินสอลงบนกระดาษสักหน่อย แต่หากยังไม่ขึ้นเงา เราอาจใช้แท่งเกลี่ยสี (Paper Stum) เป็นตัวช่วยได้
2. การขูดลาย (Impressing)
คล้ายกับเทคนิคการขูดสีในภาพสีน้ำมัน สีอะคริลิก หรือสีชอล์ก ซึ่งโดยปกติแล้วจะขูดหลังจากลงสีแล้ว แต่เมื่อนำมาประยุกต์ใช้กับสีไม้ จะสลับลำดับกัน เราจะขูดลวดลายก่อนลงสีไม้นั่นเอง เทคนิคนี้จะทำให้ระบายสีไม้สนุกขึ้น เพราะมีลวดลายต่าง ๆ ที่เราสลักไว้ อาจจะใช้คลิปหนีบกระดาษ กิ๊บหนีบผม ดินสอสีขาว ปากกาสไตลัสที่ใช้เขียนมือถือ หรือแม้แต่ปากกาลูกลื่นที่หมึกหมดแล้วก็ได้ (แต่ต้องระวังอุปกรณ์ที่ค่อนข้างแหลมและคม ต้องค่อย ๆ กดเบา ๆ ไม่เช่นนั้นจะเจาะกระดาษทะลุได้นะ) ค่อย ๆ ขูดลอกลายที่ต้องการลงบนกระดาษ จากนั้นจึงลงสีไม้ระบายทับรอยขูดได้เลย เทคนิคนี้มักนำไปใช้สร้างลายเส้นใบไม้ หรือใช้สำหรับลงลายเซ็นไว้ที่ผลงานศิลปะของเราก็ได้นะ
3. แรเงาไล่น้ำหนัก (Pressure shading)
จากชื่อเทคนิคก็พอจะเดากันได้ใช่ไหมว่า เทคนิคนี้ขึ้นอยู่กับแรงกดดินสอสีไม้ของมือ ง่ายดายขนาดนั้นเชียวแหละ!
ลองเลือกสีไม้สักสี จับแท่งดินสอสีเบา ๆ แล้วระบายสีออกมา สีที่ได้จะอ่อน สว่าง เบาและบาง ทว่า หากออกแรงจับแท่งดินสอให้แน่นขึ้น สีที่ระบายออกมาจะเข้มและทึบขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ฉะนั้นตอนฝึกควรไล่น้ำหนักจากหนักไปอ่อน หรืออ่อนไปหนัก เทคนิคนี้เหมาะสำหรับการเกลี่ยสี แรเงา หรือไล่น้ำหนักอย่างง่าย ๆ เพียงแค่ควบคุมน้ำหนักมือที่ถือดินสอเท่านั้นเอง
4. การระบายซ้อนสี (Underpainting)
เทคนิค Underpainting หรือจิตรกรรมใต้สี คือการระบายซ้อนสีกัน เพื่อให้เกิดมิติที่ซับซ้อนของภาพ เหมาะสำหรับใช้ในการระบายไล่เฉดสีและแรเงาให้สวยงาม เป็นเทคนิคแบบเดียวกับการเขียนสีอะคริลิกหรือสีน้ำมันสมัยโบราณ คือลงสีชั้นแรกด้วยสีที่จะใช้ในขั้นสุดท้าย และเลือกใช้สีคู่ตรงข้ามของสีที่จะใช้ต่อไป หากต้องการใช้สีแดง ให้ลงสีชั้นแรกด้วยสีเขียว หรือหากต้องการใช้สีน้ำเงิน ลองลงสีชั้นแรกด้วยสีแดงแทน
เมื่อลงสีชั้นแรกควรใช้แรงจับดินสออย่างเบา แล้วค่อย ๆ ระบายสีทับในจุดที่ต้องการความเข้ม หรือเป็นด้านเงา ในขณะเดียวกัน พยายามเว้นที่ว่างสำหรับพื้นที่ที่อยากให้เป็นแสงสว่างตกกระทบ หรือใช้สีขาวหรือสีครีมแทนก็ได้
5. การสานเส้น (Hatching)
เทคนิคต่อมาคือการสานเส้น หรือการสร้างเงาด้วยเส้นนั่นเอง เป็นเทคนิคง่ายๆ โดยใช้เส้นขนานมาวาดถี่ ๆ ติดกันเพื่อแรเงาหรือสร้างพื้นผิว ระยะห่างระหว่างเส้นกับน้ำหนักที่ใช้จะให้ผลลัพธ์ที่ต่างกัน ออกมาเป็นความเข้ม อ่อน มืด สว่าง ที่ต่างกันด้วย
ก่อนอื่น ควรเลือกใช้ดินสอที่คมชัด และเริ่มจากวาดเส้นขนานให้ถี่ชิดติดกัน เพื่อสร้างน้ำหนักและเงามืดบนพื้นผิวที่ต้องการ ในทางตรงกันข้าม ลองเพิ่มระยะห่างระหว่างเส้นขนานขึ้น พร้อมทั้งใช้น้ำหนักเบา เพื่อสร้างด้านสว่างนั่นเอง
6. การสานเส้นไขว้ (Crosshatching)
เป็นเทคนิคเดียวกันกับการสานเส้นในข้อที่แล้ว แต่แทนที่จะวาดเส้นขนานไปในทิศทางเดียว เราลองใช้เส้นขนานมาสานทับกันในทิศทางอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นแนวตั้ง แนวนอน หรือแนวเฉียง เทคนิคนี้เหมาะสำหรับการสร้างเงาและพื้นผิว สามารถช่วยเพิ่มมิติและน้ำหนักให้แก่วัตถุได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับระยะห่างของเส้นและเลเยอร์หรือชั้นที่ระบายทับกันเช่นเดียวกัน
7. เส้น Directional
เทคนิคนี้อาจดูใกล้เคียงกับการสานเส้น แต่การลากเส้นแบบ Directional line จะไร้การควบคุม ไม่มีแบบแผน ไม่ต้องขีดเป็นเส้นขนานตรง ๆ หากแต่ขีดเส้นแบบอิสระขึ้น ขนาดไม่ต้องเท่ากัน อ่อนโค้งกว่า ความหนาแน่นต่างกัน เทคนิคนี้พบบ่อยในการวาดหญ้า เส้นผม และเปลวไฟ และเรายังสามารถใส่สีที่ต่างกันลงไปได้ด้วย
เริ่มต้นจากวาดกระจุกเส้นเป็นกลุ่ม ๆ ก่อน และเปลี่ยนทิศทางของกลุ่มเส้นไปเรื่อย ๆ คุณสามารถเพิ่มจำนวนเส้นในพื้นที่ที่ต้องการให้เข้มขึ้น หรือลองเปลี่ยนสีเพื่อเพิ่มมิติได้
และนี่เป็นเพียง 7 เทคนิคแรกเท่านั้น อย่าลืมติดตามเทคนิคที่เหลือกันต่อในตอนหน้า เทคนิคแอดวานซ์ขึ้น รับรองว่าได้ลับคมสกิลสีไม้กันแบบจุใจ
ในการฝึกระบายสีไม้ สีไม้ที่ดีควรมีเนื้อละเอียด เนื้อสีแน่น เกลี่ยง่ายและติดทน ไส้สีไม้ต้องไม่แข็งหรืออ่อนจนเกินไป และไม่เปราะหักง่าย ถ้าหากกำลังมองหาสีไม้คุณภาพสูง ขอแนะนำ ดินสอสีไม้จาก Montmarte เม็ดสีเข้ม ไส้สีเนื้อละเอียด ให้สัมผัสเรียบลื่น ระบายไม่สะดุด มีเฉดสีพร้อมใช้สำหรับผู้เริ่มต้น สั่งซื้อได้ที่นี่
ขอบคุณข้อมูลจาก www.montmarte.net/create/articles/coloured-pencil-techniques