พูดถึงเรื่องความตาย ถ้าลองสมมติว่าตัวเองจะต้องตายในอีก 1 ปีข้างหน้า ชาว B2S Club มีภาพในหัวยังไงกันบ้างคะ ? บางคนอาจเกิดความรู้สึกปลง อยากไปใช้ชีวิตในที่สงบ ๆ ที่ไหนสักที่ บางคนอาจถอนหายใจ ซึม คิดว่าจะจินตนาการไปทำไมให้รู้สึกเศร้าใจเปล่า ๆ บางคนอาจอยากลุกขึ้นมาทำบางอย่างที่อยากทำมาเนิ่นนานแต่ไม่มีโอกาส เพื่อให้มีความสุขที่สุดกับเวลาที่เหลืออยู่
จริง ๆ ดูเหมือนเป็นเรื่องไกลตัวมาก ๆ เลยเนอะความตายเนี่ย คิดไปว่าอีก 1 ปีจะตายก็เท่านั้น เพราะชีวิตก็เหมือนเดิมทุกวัน เราก้มหน้าก้มตาเรียน ก้มหน้าก้มตาทำงาน ใช้ชีวิตที่บีบบังคับให้เราต้องเร่งรีบไปเรื่อย ๆ จนรู้ตัวอีกทีก็จะรู้สึกว่า ผ่านไปปีนึงแล้วเหรอ ยังตามหาความฝันของตัวเองไม่เจอเลย ยังทำสิ่งที่อยากทำไม่สำเร็จเลย ยังไม่มีเวลาออกไปใช้ชีวิตเลยด้วยซ้ำ สิ่งที่ลิสต์ไว้ตั้งแต่ต้นปีว่าอยากทำก็ยังไม่ได้เริ่มทำ
ถึงอย่างนั้น ท่ามกลางชีวิตที่วุ่นวาย เราก็ยังเฝ้าเสาะหาตัวเองเรื่อยไป ผัดสิ่งที่อยากทำจริง ๆ ออกไปก่อน เพราะเชื่อว่ายังมีพรุ่งนี้ให้เริ่มใหม่เสมอ แต่ถ้าได้ลองคิดว่าเมื่อไหร่เราจะตาย หรือรู้กรอบเวลาแน่ชัดแล้วว่าจะจากโลกนี้ไปตอนไหน กลายเป็นว่าเราสามารถขุดตัวเองให้ลุกมาทำสิ่งต่าง ๆ ที่อยากทำได้โดยไม่ลังเล คล้ายกับการลุกมานั่งปั่นงานส่งให้ทันเดดไลน์ยังไงอย่างงั้น
“ถ้าอีก 1 ปี ฉันจะต้องตาย” จึงเป็นหนังสือที่เราอยากชวนให้เพื่อน ๆ B2S Club อ่าน เพราะเป็นเล่มที่เราเปรียบได้ว่ามันคือ “ยันต์กันความรู้สึกเสียดาย” แต่จะเป็นความเสียดายในรูปแบบไหน เกี่ยวยังไงกับความตาย ตามมาอ่านรีวิวกันเลย
“ถ้าอีก 1 ปี ฉันจะต้องตาย” เป็นหนังสือแนว Self-Help ที่เขียนโดยนายแพทย์โอซาวะ ทาเคโทชิ หมอที่ผ่านการักษาผู้ป่วยระยะสุดท้ายมากว่า 3,500 ราย ซึ่งจากการที่คุณหมอได้ซึมซับความคิด ความรู้สึก และอยู่เคียงข้างผู้ป่วยมาโดยตลอด ก็ค้นพบว่า เมื่อคนส่วนใหญ่ใกล้จะถึงเวลาต้องลาจากโลกนี้ไปแล้ว มักนึกย้อนไปถึงชีวิตที่ผ่านมาด้วยความรู้สึกที่ว่า “ฉันทำดีที่สุดแล้ว” “อยากไปเที่ยวกับครอบครัวอีกสักครั้ง” หรือไม่ก็เป็นความรู้สึกที่ว่า “รู้อย่างนี้…ใช้ชีวิตแบบนั้นดีกว่า”
นี่จึงเกิดเป็นการตั้งคำถามขึ้นว่า ชีวิตที่ไม่รู้สึกเสียใจภายหลังเป็นอย่างไร และชีวิตที่ดีเป็นอย่างไร ซึ่งคำถามเหล่านี้ เรามักจะมาตระหนักถึงมันก็ตอนที่เวลาชีวิตใกล้หมดลงแล้ว และตามมาด้วยการวิพากษ์วิจารณ์ชีวิตของตนเองอยู่เงียบ ๆ ในใจ ว่าที่ผ่านมา เราใช้ชีวิตคุ้มแล้วหรือยัง มันดีหรือยัง หรือยังมีสิ่งที่อยากทำอยู่อีกมากน้อยแค่ไหน เราจะเห็นคุณค่าของชีวิตเปลี่ยนไปทันที และอยากจะจัดสรรเวลาที่เหลืออยู่ให้คุ้มค่าที่สุดเท่าที่จะมากได้
คงจะดีกว่า ถ้าตอนที่ยังแข็งแรง ยังมีกำลังที่จะทำสิ่งต่าง ๆ (หรือถึงแม้ว่าจะรู้ตัวแล้วว่าต้องตายเมื่อไหร่ก็ตาม) เราได้ลงมือทำในสิ่งที่อยากทำตั้งแต่วันนี้ ทำสิ่งดี ๆ ให้กับตัวเองและคนรอบข้าง ใช้ชีวิตให้มีความสุข ยิ้มกับสิ่งเล็ก ๆ รอบตัว เลิกเปรียบเทียบเส้นทางชีวิตตัวเองกับผู้อื่น และเลิกกดดันตัวเองให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์ของสังคม เพื่อที่ว่าเมื่อวาระสุดท้ายของชีวิตใกล้มาถึงแล้วได้มองย้อนกลับไป เราจะได้ไม่รู้สึกว่า รู้งี้ หรือเสียดายที่ยังไม่ได้ทำอะไรที่ติดค้างอยู่ในใจมาตลอด
เนื้อหาในเล่มจะแบ่งออกเป็น 4 บทด้วยกัน โดยแต่ละบทก็จะมีหัวข้อย่อยออกไปอีก ซึ่งน่าสนใจมาก ๆ และสามารถเลือกอ่านบทที่สนใจก่อนก็ได้ แต่จะขอบอกไว้แค่ชื่อบทหลัก ๆ ตามนี้
จะเห็นว่าแต่ละบทครอบคลุมชีวิตประจำวันของเราทุกคนมาก ไม่ว่าจะอยู่ในวัยไหน ก็จะได้เคล็ดลับดี ๆ จากเล่มนี้ไว้เป็นแรงผลักดันให้ตัวเองแน่นอน และถ้าถามเรื่องความยากง่ายในการอ่าน บอกได้เลยว่าอ่านง่ายย่อยง่ายสุด ๆ เนื้อหาไม่ได้วิชาการอะไรเลย ไม่ได้จงใจจะสอนคนอ่านมากเกินไป และยังเอามาปรับใช้ให้เกิดการลงมือทำได้จริง ๆ ด้วย แถมเป็นเล่มขนาดพกพา เลยรู้สึกว่าอ่านได้สบาย ๆ วันละนิดวันละหน่อยโดยไม่ต้องเร่งรีบ
“ผมเชื่อว่าการคิดเกี่ยวกับความหมายของชีวิตช่วยให้เราตระหนักถึงสิ่งที่สำคัญกับเราอย่างแท้จริง ทว่าเวลาที่ยังสุขภาพแข็งแรงอยู่ เราแทบไม่ได้ตระหนักถึงสิ่งสำคัญเหล่านั้นเลย เมื่อใกล้ถึงช่วงสุดท้ายของชีวิตแล้วนั่นแหละ คนส่วนใหญ่จึงเพิ่งรู้ว่าสิ่งที่สำคัญสำหรับพวกเขาคืออะไร”
“ที่ผ่านมาผมทำงานโดยคิดว่าอยากเป็นที่พึ่งพิงของคนอื่นและสามารถบรรเทาความเจ็บปวดของผู้ป่วยได้ ทว่าบ่อยครั้งผมกลับรู้สึกว่าตัวเองไร้ประโยชน์ เกิดความสงสัยว่าการมีอยู่ของผมนั้นมีความหมายหรือเปล่า พอผมรู้สึกขมขื่นและทุกข์ใจจนถึงที่สุด สุดท้ายก็ยอมรับความจริงว่า ผมก็เป็นเพียงคนธรรมดาที่อ่อนแอคนหนึ่ง จริง ๆ แล้วผมก็ต้องการใครสักคนที่พึ่งพิงได้ ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว เพื่อน พ่อที่เสียชีวิตไปแล้ว หรือผู้ป่วยที่ผมดูแล ซึ่งทำให้ผมรู้สึกว่า ดีที่ยังมีชีวิตอยู่ และคิดได้ว่า ถึงผมจะไร้ความสามารถ ช่วยอะไรไม่ได้ แต่การได้อยู่เคียงข้างผู้ป่วย คือที่พึ่งพิงของตัวเองที่ไร้ความสามารถ”
“รู้สึกเสียใจที่ทำ ดีกว่ารู้สึกเสียใจที่ไม่ได้ทำ จงเห็นแก่ตัวบ้าง แล้วทำในสิ่งที่อยากทำ ไม่ว่ามันจะเป็นแค่เรื่องเล็ก ๆ หรือความฝันที่ใช้เวลานานกว่าจะเป็นจริง”
“บางครั้ง ค่านิยมที่ว่า จำเป็นต้องมีสิ่งที่อยากทำ กลับทำให้คนเราเป็นทุกข์ แม้ว่าตอนนี้จะไม่มีสิ่งที่อยากทำ ก็ไม่ควรใจร้อนหรือตำหนิตัวเอง คุณมีจังหวะชีวิตของตัวเอง หากลองคิดว่า ถ้าอีก 1 ปีฉันจะต้องตาย ค่านิยมที่คุณยึดถือไว้จะพังทลายลง คุณอาจค้นพบสิ่งที่ตัวเองอยากทำจริง ๆ และสิ่งที่คุณอยากให้ความสำคัญ ซึ่งอาจหลงลืม ล้มเลิก หรือถูกห้ามไม่ให้ทำระหว่างที่คุณเติบโตขึ้นก็ได้”
“บางคนไม่รู้สึกเพลิดเพลินกับความโดดเดี่ยว บางคนไม่มีคนที่ไว้วางใจได้ ส่วนบางคนต้องจากลาครอบครัว คู่ชีวิต หรือเพื่อนคนสำคัญ เลยรู้สึกโดดเดี่ยวขึ้นมา ทว่าสิ่งที่ค้ำจุนจิตใจเราในเวลาที่รู้สึกโดดเดี่ยว ไม่ได้มีแค่คนที่ยังมีชีวิตอยู่เท่านั้น การเชื่อมโยงจิตใจกับธรรมชาติหรือคนและสัตว์เลี้ยงที่เสียชีวิตไปแล้ว ก็ช่วยบรรเทาความรู้สึกโดดเดี่ยวให้เราได้”
ความประทับใจ : ด้วยความที่เป็นหนังสือขนาดพอดีมือ จำนวนหน้าไม่เยอะมาก เนื้อหากระชับ ไม่แออัด ไม่เยิ่นเย้อ จึงเป็นเล่มที่อ่านได้สบาย ๆ ย่อยง่าย คืออ่านไปได้เรื่อย ๆ ว่างเมื่อไหร่ก็หยิบอ่านสักหน้าสองหน้า ซึ่งถึงจะเนื้อหาไม่เยอะในแต่ละบท แต่ก็บอกได้เลยว่าทำให้ได้กลับมาทบทวนชีวิตตัวเองในหลายมิติจริง ๆ นะ
พอได้อ่านก็เริ่มรู้สึกอยากวางแผนชีวิตให้ดีกว่านี้ มีวินัยกับเป้าหมายที่อยากทำมากขึ้น และที่สำคัญคือ กล้าที่จะเริ่มต้น ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นอะไร แต่ขอให้เริ่มทำไปก่อน ฝึกฝนตัวเองไปทีละนิดเหมือนเด็กพึ่งหัดเดิน ดีกว่าไม่ได้ทำอะไรเลยเพราะมัวแต่กังวล ไม่อย่างงั้น ผ่านไปอีกหลายปีก็อาจจะยังไม่ได้เริ่มทำ หรือพอมีโอกาสดี ๆ เข้ามา เราก็จะรู้สึกเสียดายทีหลังเพราะคว้ามันไว้ไม่ได้
นอกจากเรื่องความฝันและเป้าหมาย เล่มนี้ยังทำให้เราตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลหัวใจตัวเองและความสัมพันธ์ดี ๆ ที่เรามีอยู่ในชีวิต แม้ในตอนที่เรารู้สึกโดดเดี่ยวแบบที่ใครก็ไม่อาจเข้าใจหรือปลอบใจเราได้ คำแนะนำจากคุณหมอที่บอกให้เราเชื่อมโยงใจตัวเองกับธรรมชาติหรือแม้แต่กับคนหรือสัตว์ที่จากโลกนี้ไปแล้ว ก็เป็นคำแนะนำที่ช่วยเยียวยาหัวใจเราได้ดีเหมือนกัน
ถ้านึกถึงความตาย มันก็เหมือนเป็นตัวแทนของขีดจำกัดที่บ่งบอกว่าทุกสิ่งทุกอย่างกำลังจะจบลงใช่มั้ยคะ แต่ในทางกลับกัน ตัวมันเองกลับเป็นกุญแจปลดพันธนาการให้เราหลุดออกจากกรงขัง เป็นอิสระ กล้าออกจากคอมฟอร์ตโซนเพื่อก้าวออกไปค้นหาชีวิต เริ่มลงมือทำในสิ่งที่อยากทำ และเห็นคุณค่าของทุกวินาทีที่ผ่านไปจริง ๆ ชื่นชมนักเขียนมาก ๆ ที่เอา “ความตาย” สิ่งที่เป็นขั้วตรงข้ามกับการ “เริ่มต้นใหม่” มาสร้างแรงบันดาลใจในการค้นหาชีวิตที่ไม่ไร้ความหมายของทุกคน
ชีวิตเราไม่ได้มีเดดไลน์ เราไม่ได้มีเส้นตายมาคอยจุดไฟให้ลุกลี้ลุกลน รีบลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่างกับความฝันหรือเป้าหมายที่วางไว้ ซึ่งการไม่มีเดดไลน์นี่แหละที่น่ากลัวอย่างที่สุด มันเหมือนกับดักที่ปล่อยให้เราชิลล์ไปเรื่อยเพราะหลงคิดว่ายังไงก็มีพรุ่งนี้ให้เริ่มต้นเสมอ เล่มนี้จึงเป็นเหมือนสัญญาณเตือนภัยที่คอยย้ำเตือนให้เราเริ่มขีดเส้นตายให้ตัวเองบ้าง เพื่อที่จะได้เริ่มลงมือทำในสิ่งที่อยากทำเสียที และได้เรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ทุกข์บ้าง เศร้าบ้าง ผิดหวังบ้าง สมหวังบ้างก็ไม่เป็นไร เราจะหาความหมายและคุณค่าของชีวิตเจอโดยไม่ต้องโบยตีตัวเองเหมือนอย่างที่ผ่านมา
ถึงตรงนี้แล้ว เชื่อว่าเพื่อน ๆ ชาว B2S Club ก็คงอยากได้มินิไกด์เล่มนี้ไว้ย้ำเตือนตัวเองด้วยเหมือนกัน อ่านรีวิวจบแล้ว อย่าลืมแวะไปซื้อเล่มนี้ และหนังสือดี ๆ กันที่ร้านหนังสือ B2S นะคะ