แค่ทำโทรศัพท์มือถือหาย ทำไมต้องกลายเป็นศพ

รายละเอียดหนังสือ

ชายคนหนึ่งเก็บโทรศัพท์ได้บนรถแท็กซี่ ภาพหน้าจอที่เป็นหญิงสาวหน้าตาสะสวยผมสีดำขลับถูกใจชายคนนั้นเป็นอย่างมาก และเมื่อเธอโทรเข้ามาที่โทรศัพท์เครื่องนั้นพร้อมด้วยชื่อของเธอที่ปรากฎบนหน้าจอทำให้ชีวิตของเธอไม่สงบสุขอีกต่อไป และอีกด้านหนึ่ง ตำรวจกำลังเร่งหาตัวคนร้ายผู้ก่อเหตุฆาตกรรมต่อเนื่องที่ฆ่าหญิงสาวผมดำจำนวนหลายศพแล้วนำมาฝังบนภูเขาชายคนหนึ่งเก็บโทรศัพท์ได้บนรถแท็กซี่ ภาพหน้าจอที่เป็นหญิงสาวหน้าตาสะสวยผมสีดำขลับถูกใจชายคนนั้นเป็นอย่างมาก และเมื่อเธอโทรเข้ามาที่โทรศัพท์เครื่องนั้นพร้อมด้วยชื่อของเธอที่ปรากฎบนหน้าจอทำให้ชีวิตของเธอไม่สงบสุขอีกต่อไป และอีกด้านหนึ่ง ตำรวจกำลังเร่งหาตัวคนร้ายผู้ก่อเหตุฆาตกรรมต่อเนื่องที่ฆ่าหญิงสาวผมดำจำนวนหลายศพแล้วนำมาฝังบนภูเขา

ผู้เขียน

อะคิระ ชิงะ

ผู้แปล

-

สำนักพิมพ์

แพรวสำนักพิมพ์

หน้า

256

ประเภทหนังสือ

นิยายสยองขวัญ/สืบสวนสอบสวน

ราคา

265 บาท

ISBN

978-616-18-3657-3

รีวิวโดย

vickytatiya

รายละเอียดรีวิว

แค่ทำโทรศัพท์มือถือหาย ทำไมต้องกลายเป็นศพ: การจารกรรมข้อมูลในโลกไซเบอร์สู่อาชญากรรมในชีวิตจริง จะมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตสักกี่คนที่ไม่เคยป้อนข้อมูลวันเดือนปีเกิดของตัวเองลงแอคเคานท์โซเชียลมีเดีย และจะมีสักกี่คนที่ไม่นำวันเดือนปีเกิดนั้นมาตั้งเป็นรหัสผ่านอีเมล รหัสผ่านแอคเคานท์ต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งรหัสผ่านหน้าจอโทรศัพท์ นวนิยายเรื่อง “แค่ทำโทรศัพท์มือถือหาย ทำไมต้องกลายเป็นศพ” ของอะคิระ ชิงะ นำด้านมืดของการใช้ประโยชน์จากอินเทอร์เน็ตมาสร้างเป็นเครื่องมือที่คนร้ายใช้ก่อเหตุฆาตกรรมระทึกขวัญได้อย่างสมบูรณ์แบบ ความน่าสนใจประการแรกของหนังสือเล่มนี้คือ ผู้เขียนเลือกที่จะเล่าผ่านมุมมองของ 3 บุคคลสำคัญของเรื่อง ได้แก่ เหยื่อ ตำรวจ และฆาตกร โดยปกติแล้ว นวนิยายแนวระทึกขวัญจะเล่าผ่านมุมมองของเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายที่ต้องประสบพบเจอกับเรื่องน่ากลัวต่าง ๆ เพื่อทำให้ผู้อ่านเกิดอารมณ์ร่วมไปกับหนังสือ ประกอบกับความจริงที่ว่า การเลือกที่จะเล่าผ่านมุมมองของฆาตกรนั้นไม่ต่างอะไรจากการเฉลยปมทุกอย่างที่อุตส่าห์ลำบากสรรค์สร้างมา แต่อะคิระ ชิงะไม่ได้คิดเช่นนั้น เขาตัดสินใจเล่าเรื่องผ่านมุมมองของฆาตกรโดยละเอียด ซึ่งนอกจากจะไม่ได้ทำให้เรื่องราวน่าติดตามน้อยลงเลยแม้แต่น้อย ก็ยังมีส่วนเพิ่มทำให้ผู้อ่านกลัวและหวาดระแวงมากกว่าเดิมอีกด้วย เพราะการเล่าเรื่องจากมุมมองของฆาตกรเป็นการบอกเล่าถึงวิธีการที่ฆาตกรใช้อย่างหมดเปลือก และที่สำคัญคือ วิธีการเหล่านั้นไม่จำเป็นต้องใช้ความรู้ระดับโปรแกรมเมอร์เพื่อจะก่อเหตุและไม่ได้มีความสลับซับซ้อนมากเกินกว่าที่คนธรรมดาจะทำได้ นั่นยิ่งทำให้ความน่ากลัวของเรื่องนี้เพิ่มขึ้นอีกเป็นเท่าตัวเมื่อผู้อ่านตระหนักได้ว่า ทุก ๆ คนสามารถก่อเหตุฆาตกรรมด้วยวิธีนี้ได้ทั้งสิ้น ประกอบกับการเล่าเรื่องผ่านมุมมองของตำรวจผู้สืบคดีทำให้ผู้เขียนสามารถสอดแทรกข้อเท็จจริงมากมายลงไปในหนังสือได้ เช่น ผู้ก่อเหตุฆาตกรรมโดยใช้ประโยชน์จากโลกไซเบอร์ ส่วนใหญ่แล้วเป็นผู้ร้ายในคราบพนักงานออฟฟิศที่ดูดี แต่งตัวภูมิฐาน หน้าตาสะอาดสะอ้าน ดูเป็นมนุษย์เงินเดือนทั่ว ๆ ไปแบบที่เราเดินผ่านในชีวิตประจำวัน เป็นต้น ข้อมูลเหล่านี้ นอกจากจะทำให้เนื้อเรื่องมีความสมจริงแล้ว ยังเพิ่มความระมัดระวังให้แก่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทุกท่านได้สำรวจบัญชีของตนเองอีกด้วยว่ามีความปลอดภัยมากพอแล้วหรือยัง สุดท้ายนี้ “แค่ทำโทรศัพท์มือถือหาย ทำไมต้องกลายเป็นศพ” ถือเป็นนวนิยายที่ชาวศตวรรษที่ 21 ควรอ่านเป็นอย่างยิ่ง เพราะในยุคโลกาภิวัตน์เช่นนี้ ข้อมูลข่าวสารและกิจกรรมต่าง ๆ ล้วนไหลเวียนอยู่บนโลกอินเทอร์เน็ต ในขณะที่ความปลอดภัย และความเป็นส่วนตัวบนโลกไซเบอร์นั้น แทบจะไม่มีเลย

วันที่รีวิว

05 ก.ค. 64